กทม.สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้น้ำหมักชีวภาพช่วยบำบัดน้ำเสียในคลอง
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสียในคลองเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุว่า การเทน้ำหมักชีวภาพลงในคลองเป็นการเพิ่มออกซิเจนและปรับปรุงสภาพน้ำในคลองที่เน่าเสีย โดยน้ำหมักชีวภาพจะส่งผลให้สารอินทรีย์ในแหล่งน้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น แบคทีเรียซึ่งทำหน้าที่กำจัดสารอินทรีย์ในน้ำจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยร่วมกับการใช้ออกซิเจน เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ และเมื่อผ่านในช่วงเวลาหนึ่งปริมาณออกซิเจนในน้ำจะลดลงจนเกิดภาวะขาดออกซิเจน และผลิตแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจนมากำจัดสารอินทรีย์ในน้ำแทน ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้จะปล่อยก๊าซซัลไฟด์ แอมโมเนีย และมีเทน ทำให้น้ำเน่าเสีย มีสีดำ ทั้งนี้ หากนำน้ำหมักชีวภาพมาใช้กับแหล่งน้ำไหล จะต้องใช้น้ำหมักชีวภาพในปริมาณมาก จึงเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำสูง อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสียให้เกิดประสิทธิผล ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของจุลินทรีย์และส่วนผสมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำหมักชีวภาพ มีความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของแหล่งน้ำแต่ละประเภท จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวริมคลองและประชาชนทั่วไปได้เข้าใจถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพก่อนที่จะมีการนำไปเทลงคลอง
ทั้งนี้ สนน.ได้ดำเนินการตามแผนการดูแลรักษาคูคลองและการปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการรักษาความสะอาดคูคลอง โครงการเก็บขยะทางน้ำ โครงการเปิดทางน้ำไหล รวมถึงการจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงที่สถานีสูบน้ำ เพื่อลดค่าความสกปรกก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในระยะเร่งด่วน พร้อมทั้งมีมาตรการบำบัดน้ำเสีย การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในชุมชนขนาดเล็กริมคลอง และติดตั้งเครื่องเติมอากาศในน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียรุนแรง
นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานเขตและสำนักต่าง ๆ ในสังกัด กทม.ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และประชาชน ร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียเชิงบูรณาการ โดยจัดการรณรงค์ไม่ทิ้งขยะ หรือของเสียลงสู่คูคลอง ลำรางลำกระโดงในพื้นที่ บำบัดน้ำเสียในครัวเรือน ส่งเสริมให้ติดตั้งถังดักไขมัน ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน กทม.ยังร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม บูรณาการข้อมูลแหล่งกำเนิดน้ำเสีย จัดทำแผนตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง หากพบสถานประกอบการมีคุณภาพน้ำทิ้งไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐานการระบายน้ำทิ้งจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
กทม.เร่งพิจารณาแผนก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามปากซอยวัดดงมูลเหล็ก ถนนจรัญสนิทวงศ์
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย กทม.กล่าวกรณีประชาชนขอให้ กทม.เร่งก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามบริเวณปากซอยวัดดงมูลเหล็ก ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งถูกรื้อออกในช่วงที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดและรถไฟฟ้า รวมทั้งแก้ไขปัญหาทางม้าลายไม่มีสัญญาณไฟจราจรและไฟฟ้าส่องสว่างภายในชุมชนว่า แผนการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามบริเวณดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กทม.ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้จัดทำประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามจัดส่งให้ สนย.แล้ว ส่วนกรณีทางม้าลายไม่มีสัญญาณไฟจราจร ได้แจ้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัย กทม.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการใช้ทางม้าลาย สำหรับปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชนวัดดงมูลเหล็ก ได้ตรวจสอบพบว่า ลักษณะในซอยบางช่วงมีขนาดแคบและบางช่วงติดลำคลอง สำนักงานเขตฯ ไม่สามารถดำเนินการได้เอง จึงได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เร่งดำเนินการต่อไป
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ติดตามความคืบหน้าแผนการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณดังกล่าวโดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของ สจส.นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในวันที่ 30 มี.ค.66 ทั้งนี้ สนย.ได้ออกแบบโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามดังกล่าว สนย.จะดำเนินการในช่วงเดือน เม.ย.66 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างฯ ประมาณ 120 วัน
กทม.เตรียมก่อสร้างคันหิน 4.7 กม.เป็นแนวป้องกันดักดินตะกอนชายฝั่งบางขุนเทียน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เขตบางขุนเทียนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เตรียมวางแผนการก่อสร้างคันหิน ความยาว 4.7 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เป็นโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนและศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมถึงเป็นแนวป้องกันและที่ดักดินตะกอนให้พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2567 ขณะนี้สำนักงานเขตบางขุนเทียน มีแผนงานกำหนดใช้ท่อซีเมนต์ในแปลงปลูกหน้าทะเลให้เต็มพื้นที่ และกำหนดแผนการเข้าดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยการเติมดินเลน การเปลี่ยนไม้หลักค้ำพยุง โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนท่อซีเมนต์มาแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 61 หน่วยงาน รวม 25,589 ท่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียนในปี 2566
เขตธนบุรีจับมือ สน.ตลาดพลูแก้ปัญหาจัดแสดงดนตรีส่งเสียงดังรบกวนในตลาดเฟิร์สวัน
ว่าที่ร้อยตรี เดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี กทม.กล่าวกรณีผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งบนถนนรัชดาภิเษกใกล้กับตลาดเฟิร์สวัน ตลาดพลู ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากเสียงเพลงดังและเหตุทะเลาะวิวาทในตลาดว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ตลาดพลูลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 18 มี.ค.66 พบว่า ภายในตลาดเฟิร์สวัน ตลาดพลู มีการจัดแสดงดนตรีบนเวที โดยแสดงในพื้นที่โล่ง ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น สำนักงานเขตฯ จึงมีหนังสือขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งขอให้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ กวดขันบริเวณดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเพื่อเฝ้าระวังเหตุทะเลาะวิวาทอื่น ๆ และจัดทำแผนตรวจสอบกวดขันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีผู้ร้องเรียนมีข้อสังเกตเรื่องการตรวจวัดระดับเสียงบริเวณห้องพักอาศัยในคอนโดมิเนียม สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตรวจวัดระดับเสียง ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีการตรวจวัดระดับเสียงพื้นฐาน ระดับเสียงขณะไม่มีการรบกวน การตรวจวัดและคำนวณระดับเสียงขณะมีการรบกวน การคำนวณค่าระดับการรบกวน และแบบบันทึกการตรวจวัดระดับเสียงรบกวน พ.ศ.2565 ระบุไว้ว่า การตั้งไมโครโฟนของมาตรระดับเสียง (เครื่องวัดเสียง) ต้องตั้งบริเวณที่ประชาชนร้องเรียน หรือที่คาดว่าจะได้รับการรบกวน ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้รับการรบกวนที่ห้องพักอาศัยในคอนโดมิเนียมของผู้ร้องเอง เจ้าหน้าที่จึงตรวจวัดระดับเสียงตามสภาพความเป็นจริงดังกล่าว