กทม.ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังผลกระทบจากซีเซียม-137 ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่า – โรงหลอมในกรุงเทพฯ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีเกิดเหตุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี และถูกพบในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สปภ.ได้ติดตามสถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมเครื่องมือตรวจวัดรังสี ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 – 2570 และแนวทางปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ.2564 – 2570 โดยคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติได้จัดทำขึ้น เพื่อสนับสนุนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ในการจัดการเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ และเป็นกรอบมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเมื่อวันที่ 1 – 2 ก.ย.2565 ผู้แทน สปภ.ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระหว่างหน่วยงานที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อทบทวนความรู้ ซักซ้อม และเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งการประสานระหว่างหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ ปี พ.ศ.2566 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจแนะนำความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการระหว่างเดือน มี.ค. – พ.ค.2566 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565
สำหรับสถานประกอบการรับซื้อของเก่า จำนวน 663 ราย และโรงงานหลอมเหล็ก จำนวน 110 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนอ.จะประสานสำนักงานเขตให้ตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าวระหว่างเดือน เม.ย. – มิ.ย.2566 เพื่อควบคุมกำกับตามอำนาจหน้าที่ว่ามีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ รวมทั้งแนะนำและกำชับผู้ประกอบการเพิ่มความเข้มงวดการรับซื้อสิ่งของ เช่น การตรวจสอบลักษณะสินค้าและแหล่งที่มาให้ชัดเจน อาจสังเกตจากสัญลักษณ์ หรือรายละเอียดบนวัตถุนั้น ๆ รวมทั้งให้แยกจัดเก็บวัตถุตามประเภท เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอัคคีภัย โดยตรวจสอบตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง การควบคุมกิจการการสะสมวัตถุ หรือสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้ว หรือเหลือใช้ต่อไป
กทม.กำชับผู้รับจ้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิเพิ่มความระมัดระวังทุกขั้นตอน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำสี หรือน้ำปูนหยดใส่รถยนต์ขณะขับรถผ่านใต้สะพานข้ามแยกบางกะปิ มุ่งหน้าลาดพร้าวขาเข้าว่า สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ คาดว่าน้ำที่หยดลงมาเป็นน้ำที่เกิดจากการฉีดพรมบริเวณที่มีการสกัดพื้นสะพานส่วนที่จะปรับปรุงเสริมกำลัง โดยรั่วซึมผ่านจุดรอยต่อและรู้รั่วของแผงผ้าใบป้องกันที่ได้ติดตั้งไว้ จึงได้กำชับผู้รับจ้างให้ตรวจสอบสภาพแผงผ้าใบ หาจุดรั่วซึม และปรับปรุงให้เรียบร้อย พร้อมเพิ่มความระมัดระวังการทำงานทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ สามารถติดต่อสำนักการโยธา กทม.เพื่อหารือและเยียวยาความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สนย.จะเร่งดำเนินโครงการปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิช่วงสะพานรถยนต์ข้ามทางแยกให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้
กทม.ประสาน บช.น.พิจารณาทบทวนขยายช่วงเวลาห้ามเดินรถบรรทุก – รถพ่วง ลดฝุ่น PM2.5
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณามาตรการจำกัดเวลา พื้นที่ และปริมาณสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเขตเมือง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศว่า สจส.ได้ประสานความร่วมมือในการตรวจจับรถทุกประเภทที่ปล่อยควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้มีหนังสือขอความร่วมมือกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พิจารณาทบทวนการขยายช่วงเวลาการห้ามเดินรถและทบทวนความเหมาะสมของถนนบางสายที่ได้รับการยกเว้นห้ามเดินรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปและรถพ่วงให้เดินรถได้ระหว่างเวลา 06.00 – 10.00 น. และระหว่างเวลา 15.00 – 21.00 น. เว้นวันหยุดราชการ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. – ก.พ.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีปัญหาการสะสมของฝุ่น PM2.5 ในปริมาณสูง เพื่อช่วยลดมลพิษจากฝุ่นละออง
เขตประเวศสั่งระงับถมดินในซอยอ่อนนุช 61 หลังพบนำขยะมาทิ้ง
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม.กล่าวกรณีประชาชนในซอยอ่อนนุช 61 ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขยะที่มีผู้นำมาทิ้งบริเวณท้ายซอย ส่งกลิ่นเหม็น มีปัญหาฝุ่น เสียงดัง และเกรงจะมีน้ำขยะไหลเข้าที่พักในช่วงฝนตกว่า จากการตรวจสอบบริเวณดังกล่าว สำนักงานเขตประเวศได้อนุญาตให้มีการถมดิน แต่กระทำผิดเงื่อนไขการอนุญาต โดยนำขยะมาทิ้งด้วย จึงมีคำสั่งให้หยุดการขุดดิน ถมดิน หรือจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 ให้ผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดินหยุดการถมดินจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และจัดการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่งฯ ขณะเดียวกันได้มีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้แก้ไขและระงับเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยห้ามนำขยะและเศษวัสดุต่าง ๆ มาทิ้ง หรือกองทิ้งในที่ดิน เว้นแต่ดิน หิน กรวด หรือทราย ตามที่ได้แจ้งการถมดินไว้ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่รับทราบคำสั่ง ซึ่งขณะนี้ผู้ขออนุญาตได้หยุดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างขุดร่องน้ำ เพื่อระบายน้ำและป้องกันน้ำไหลซึมเข้าบ้านเรือนข้างเคียง รวมทั้งติดตั้งสแลนป้องกันฝุ่นละออง พร้อมทั้งรดน้ำป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย หากดำเนินการแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยและการปฏิบัติตามคำสั่งฯ ให้ถูกต้อง หากดำเนินการไม่เรียบร้อยจะแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการลักลอบทิ้งขยะมูลฝอยในที่ดินว่างเปล่า โดยกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราการกระทำผิด จัดทำประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งเจ้าของที่ดินว่างเปล่าในพื้นที่ให้ดูแลที่ดินของตนให้สะอาด เรียบร้อย ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอยในที่ดินของตน รวมทั้งมีช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลการพบเห็นการกระทำผิด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป