กทม.เตรียมพร้อมสนับสนุนจัดเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ ด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นกลาง
นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสนับสนุนความร่วมมือจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพฯ ว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กทม.มีหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ตามที่ได้รับการร้องขอจาก กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง โดย กทม.ได้สนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานที่ ได้แก่ (1) อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เป็นสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 33 เขตเลือกตั้งของ กทม. (2) อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง เป็นสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และรับการแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (3) ศาลาว่าการ กทม. และที่ทำการของสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง สำหรับปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.และ (4) สนับสนุนสถานที่ปิดป้ายประกาศหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในช่วงระยะเวลา 180 วันก่อนวันครบวาวะ
ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สำนักงานเขตเตรียมความพร้อมสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ล่วงหน้า ทั้งการสำรวจและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น หีบบัตรเลือกตั้ง คูหาลงคะแนน ป้ายไม้กระดานสำหรับปิดประกาศต่าง ๆ พร้อมจัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งระดับเขต สถานที่ประมวลผลคะแนนเลือกตั้งและเก็บรักษาบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้ง คูหาลงคะแนนเลือกตั้ง รวมถึงเตรียมการสรรหาบุคคลากร เพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ได้แก่ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง ตลอดจนสำรวจหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง จำนวน 6,342 หน่วย และจัดเตรียมสถานที่สำหรับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งทั้งในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง โดยให้พิจารณาสถานที่ที่มีความเหมาะสม สะดวก และเพียงพอต่อการมาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งสถานที่สำหรับใช้นับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร ให้พิจารณาสถานที่ที่มีความเหมาะสม ไม่อยู่ในมุมอับและสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการเน้นย้ำให้จัดการเลือกตั้งด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นกลาง ปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามหลักการ “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” และรณรงค์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิให้มากที่สุด รวมทั้งแจ้งทุกหน่วยงานและส่วนราชการของ กทม.ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกระดับตำแหน่งในสังกัดวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด เพิ่มความระมัดระวังการเข้าร่วมกิจกรรมมวลชนต่าง ๆ ตลอดจนระมัดระวังการใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด ๆ อันเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โดยให้ถือปฏิบัติตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป จนกว่าการเลือกตั้งฯ จะเสร็จสิ้น
กทม.รณรงค์สตรีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ศูนย์บริการสาธารณสุข รถคัดกรองมะเร็งสตรีเคลื่อนที่
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการตรวจคัดกรองค้นหาผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมว่า สนอ.ได้รณรงค์ให้สตรีเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทั้งเชิงรับในคลินิกวางแผนครอบครัวและหลังคลอดที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และเชิงรุกโดยรถคัดกรองมะเร็งสตรีเคลื่อนที่ ซึ่งมีผู้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในปี 2565 จำนวนกว่า 5,000 ราย ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยดูด้วยตา (Look for Change) และคลำด้วยมือ (Feel for Change) ควรเลือกตรวจในวันที่ไม่มีอาการปวด หรือคัดเต้านม หลังจากประจำเดือนหมดแล้วประมาณ 3 – 7 วัน เพื่อให้รู้ลักษณะเต้านมปกติของตนเองว่าเป็นอย่างไร รวมถึงสังเกตความผิดปกติของเต้านมที่ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ พบก้อน หรือมีเนื้อแข็งเป็นไต มีน้ำเหลือง หรือเลือดไหลออกจากหัวนม ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ เต้านมบวม เต้านมทั้งสองข้างไม่อยู่ในระดับเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม เป็นต้น หากพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ประชาชนสามารถศึกษาขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองง่าย ๆ ผ่านคลิปวิดีโอ “3 นิ้ว 3 สัมผัส มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้ กับมูลนิธิถันยรักษ์” ที่เว็บไซต์ https://youtu.be/VFGdqy6YiYQ