กทม.ตั้งจุดกวดขันรถควันดำ – รถบรรทุกดินช่วยลดมลพิษในอากาศ
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กล่าวถึงการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนท.ได้จัดชุดสายตรวจและร่วมกับฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้รณรงค์สร้างความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบบำรุงรักษารถยนต์และเครื่องยนต์ ไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เผาขยะในที่โล่ง พร้อมทั้งกำชับบุคลากรในสังกัดหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถราชการอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง/ปี เพื่อไม่ให้รถส่วนกลางก่อให้เกิดควันดำสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 นอกจากนั้น กทม.ยังได้ตั้งจุดตรวจกวดขันรถบรรทุกดิน หรือวัสดุอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะรถบรรทุกที่เข้า – ออกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง ต้องจัดให้มีวัสดุป้องกันสิ่งที่บรรทุกไม่ให้ตกหล่น รั่วไหล ปลิวฟุ้งกระจายบนถนนในระหว่างที่ใช้รถ รวมทั้งกำชับให้ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง
กทม.แนะสตรีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานข้อมูลในปี 2565 พบหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุดว่า จากรายงานสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่มารับบริการที่โรงพยาบาลสังกัด กทม.ในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 3,533 ราย สนพ.ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมผ่านคลินิกโรคมะเร็งและโครงการ “กทม.ดูแลห่วงใยมะเร็งครบวงจร” ในผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การใช้ฮอร์โมนเพศ หรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยมีบุตร การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป พร้อมแนะนำให้มาตรวจคัดกรองทุกๆ 1 – 2 ปี ขณะเดียวกัน สนพ.ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการประชาชน เพื่อให้เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก หากมีความเสี่ยงผู้คัดกรองสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว (Fast Track) และเข้ารับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์และสิทธิการรักษา “รู้เร็ว รักษาไว ปลอดภัย และมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน” ประเมินความเสี่ยงนัดหมายผ่านศูนย์ Bangkok Fast & Clear Center (BFC) ของโรงพยาบาลสังกัด กทม. หรือแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.”
นอกจากนั้น สนพ.ได้ประชาสัมพันธ์การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปให้สามารถคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเอง โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7 – 10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน กรณีที่วัยหมดประจำเดือนสามารถตรวจช่วงใดก็ได้ หรือกรณีที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกแล้วให้เลือกตรวจช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง หากพบสิ่งผิดปกติควรมาพบแพทย์ พร้อมแนะแนวเรื่องโรคมะเร็งเต้านมที่พบได้ในคนอายุน้อยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยช่วงอายุที่พบได้สูงสุดในหญิงอายุ 50 – 55 ปี แต่ในระยะหลังพบว่า ผู้มีอายุน้อยก็สามารถป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้และความรุนแรงของโรคยังมากกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก ซึ่งอาจเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามความเจริญของสังคมเมืองและอุตสาหกรรม ทำให้มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง หรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น ส่วนสาเหตุ ที่แท้จริงเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งปัจจัยตัวผู้ป่วย ได้แก่ เพศ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม กระบวนการกำจัดเซลล์ในร่างกายทำงานผิดปกติ ไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ปัจจัยทางพฤติกรรม สารเคมี เช่น ฮอร์โมนเพศหญิง และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยมีอาการสัญญาณเตือน ดังนี้ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหนาคล้ายผิวส้ม คลำพบก้อนที่เต้านม หรือรักแร้ หัวนมผิดรูป/หัวนมบอดบุ๋ม เต้านมมีผื่นแดงร้อน มีอาการปวดบริเวณเต้านม มีการดึงรั้งของผิวหนังบริเวณเต้านม มีน้ำ หรือเลือดออกจากเต้านม หรือบางรายอาจไม่มีอาการ
สำหรับแนวทางป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคมะเร็งเต้านม ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการตรวจคัดกรองโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือการตรวจคัดกรองเฉพาะราย กรณีผู้ไปรับการตรวจคัดกรองที่ไม่มีอาการ หรืออาการแสดงของมะเร็งเต้านม สามารถเลือกวิธีการตรวจคัดกรองโดยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการคัดกรองเอง ส่วนในรายที่มีอาการแสดง เช่น พบก้อนที่เต้านม ถือเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัย สามารถเบิกได้ตามสิทธิ โดยทางเลือกการคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศไทยที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือ การตรวจคัดกรองเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (BSE) ทุกเดือน หากพบความผิดปกติให้ไปรับการตรวจยืนยันที่สถานบริการสาธารณสุข เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจยืนยันแล้วพบผิดปกติให้ส่งต่อ เพื่อทำแมมโมแกรม หรืออัลตร้าซาวด์ต่อไป
กทม.ใช้น้ำหมักชีวภาพช่วยปรับสภาพน้ำ ควบคู่การรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงคลอง
นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา กทม.กล่าวกรณีสื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์การเทน้ำหมักชีวภาพลงคลองบริเวณสะพานธรรมสันติ เขตทวีวัฒนา เพื่อบำบัดน้ำเสีย อาจไม่เพียงพอกับขนาดคลองว่า การเทน้ำหมักชีวภาพลงไปในคลองบริเวณสะพานธรรมสันติ ซึ่งน้ำในคลองมีสภาพปกติไม่ได้เน่าเสีย เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของน้ำในคูคลองให้มีสภาพดีตลอดเวลา โดยสำนักงานเขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง หากพบว่า มีการทิ้งขยะลงในคูคลองจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทเอกชนและชุมชนในการผลิตน้ำหมัก เพื่อช่วยปรับคุณภาพน้ำในคูคลองให้ดีขึ้น
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า น้ำหมักชีวภาพสามารถใช้ในการบำบัดกลิ่นและสีในแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่งและไม่ลึกมาก เช่น น้ำเสียบริเวณชุมชน ซึ่งชุมชนได้ทำจุดหยดน้ำชีวภาพเป็นจุด ๆ และไม่ทิ้งขยะลงไปเพิ่ม จะช่วยให้กลิ่นเหม็นและสีดำของน้ำลดลงได้ โดยชุมชนสงวนคำ เขตหนองแขม และชุมชนเกตไพเราะ เขตพระโขนง ดำเนินการประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนการเทน้ำหมักชีวภาพลงคลองต้องพิจารณาว่า เป็นคลองที่น้ำค่อนข้างนิ่ง ไม่ลึกเกินไป และต้องตั้งจุดหยดน้ำชีวภาพเป็นระยะทุก 50 – 100 เมตร จึงจะช่วยลดกลิ่นและทำให้สีของน้ำใสขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการควบคู่กับการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาคูคลอง เก็บและไม่ทิ้งขยะลงไปในแม่น้ำคูคลอง ติดตั้งถังดักไขมันที่อ่างล้างจาน แยกขยะนำไปใช้ประโยชน์ และทิ้งขยะในจุดที่เขตกำหนดไว้ โดยที่ผ่านมา สสล.และสำนักงานเขตได้ส่งเสริมการแยกขยะก่อนทิ้ง ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลอง ติดตั้งถังดักไขมันในคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองลัดมะยมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสาขาต่าง ๆ
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำคู่มือสำหรับให้สำนักงานเขตใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานดูแลและอนุรักษ์แม่น้ำคูคลอง อาทิ คู่มือคนรักษ์คลอง คู่มือการจัดการขยะและน้ำเสียโดยชุมชน คู่มือแนวทางการจัดการขยะและน้ำเสียในแม่น้ำคูคลอง รวมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และประชาชน โดยเฉพาะชุมชนริมคลอง ร่วมรักษาความสะอาดดูแลสภาพแวดล้อม ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงคลอง ติดตั้งถังดักไขมัน เก็บขยะในคูคลอง แยกขยะก่อนทิ้ง ทิ้งขยะตามจุดทิ้งที่กำหนด และทิ้งขยะให้ลงถังขยะป้องกันขยะปลิวลงน้ำ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ลักลอบทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป
กทม.แจงปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ได้ทุกฤดู – ใช้เกณฑ์น้ำขึ้นน้ำลงของน้ำทะเล
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน ควรดำเนินการในช่วงต้นฤดูฝน จึงจะมีอัตราการรอดสูงและไม่ควรปลูกขณะน้ำขึ้นว่า กทม.ได้จัดกิจกรรม “เพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน” ซึ่งเป็นการปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ในระดับน้ำที่สูงและปลูกในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากการปลูกต้นกล้าโกงกางใช้เกณฑ์การขึ้นลงของน้ำทะเล โดยพิจารณาระดับน้ำที่มีความปลอดภัยต่อการลงปลูกของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ ดังนั้น จึงสามารถปลูกได้ทุกฤดู โดยแปลงปลูกที่ใช้จัดกิจกรรมฯ เป็นแปลงปลูกที่ได้รับผลกระทบจากความแรงของคลื่นทะเล จึงต้องใช้ท่อซีเมนต์ ขนาดกว้าง 6 นิ้ว สูง 1 – 3 เมตร เป็นตัวช่วยยกระดับต้นกล้าให้พ้นน้ำ เลียนแบบการปลูกตามธรรมชาติริมชายฝั่งที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงของทะเล ซึ่งทำให้ต้นกล้าไม่จมน้ำเป็นเวลานาน มีระยะการเพาะเลี้ยงให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงจนเจริญเติบโตสามารถออกรากอากาศรอหยั่งลงดินเองตามธรรมชาติ มีอัตราการรอดร้อยละ 80 และใช้ช่วยชะลอคลื่น นอกจากนี้ การปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ ยังสร้างเกราะป้องกันให้ต้นกล้าโกงกางสามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระดับน้ำที่มีความเหมาะสมคือ ตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไป เพราะต้องใช้แผ่นโฟมขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลำเลียงท่อซีเมนต์ ซึ่งมีน้ำหนักมาก ลำเลียงไม้หลักค้ำพยุงกับต้นกล้าที่ใช้ในการปลูก รวมถึงช่วยทุ่นแรงพยุงตัวของคนปลูกให้มีความคล่องตัวสามารถปักลงดินได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้แรงมากเกินไป จึงแตกต่างจากการปลูกลงดินตามปกติที่ต้องให้ระดับน้ำลดลงต่ำจนเห็นพื้นดิน เพื่อปลูกลงดินเหมือนการปลูกต้นไม้ทั่วไป
ทั้งนี้ สำนักงานเขตบางขุนเทียนมีแผนงานกำหนดใช้ท่อซีเมนต์ในแปลงปลูกหน้าทะเลให้เต็มพื้นที่ และได้กำหนดแผนการดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเติมดินเลนและการเปลี่ยนไม้หลักค้ำพยุง โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนท่อซีเมนต์มาแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 61 หน่วยงาน รวม 25,589 ท่อ