กทม.จัดมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดวัณโรคกลุ่มแรงงานข้ามชาติในกรุงเทพฯ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน (รง.) เพื่อเร่งรัดให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนการทำงานอย่างถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการคัดกรองวัณโรคและนำเข้าสู่ระบบการรักษา พร้อมจัดอบรมความรู้เรื่องวัณโรคให้อาสาสมัครต่างด้าวประจำสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อช่วยคัดกรองวัณโรคในสถานประกอบการ รวมทั้งออกหน่วยรถเอกซเรย์เคลื่อนที่คัดกรองวัณโรคในสถานประกอบการที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นแรงงานข้ามชาติ จัดหางบประมาณสำหรับซื้อยาวัณโรคให้สถานพยาบาลที่รักษาวัณโรค ตลอดจนพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยวัณโรคระหว่างสถานพยาบาลและระหว่างประเทศ
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดหางบประมาณการตรวจเสมหะทางโมเลกุลวิทยา เพาะเชื้อ ตรวจทางชันสูตร และซื้อยารักษาวัณโรคให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นวัณโรคเข้าสู่ระบบการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ทุกสังกัดให้การวินิจฉัยรักษาวัณโรคโดยไม่คำนึงถึงสิทธิการรักษา (Free of charge) ตลอดจนประสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐและเอกชน (PPM : Public Private Mix) ให้มีการดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินงานวัณโรคประเทศไทย (NTP : National TB Program) และการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยวัณโรคในโปรแกรมบันทึกข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคของประเทศ (National Tuberculosis Information Program: NTIP) ทุกราย เพื่อให้ทราบยอดผู้ป่วยที่เที่ยงตรง ทั้งยังรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้กลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในพื้นที่ออกรณรงค์ให้ความรู้เรื่องวัณโรคแก่สถานประกอบการที่มีแรงงานข้ามชาติ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดระบบการรักษา การส่งต่อ การติดตามผู้ป่วยวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้มีผู้ประสานงานวัณโรค (TB Coordinator) เป็นผู้รับผิดชอบงานวัณโรคโดยตรงทุกโรงพยาบาล เพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยวัณโรคแต่ละรายอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องให้ความรู้เรื่องวัณโรค การรักษาและสุขศึกษาแก่ผู้ป่วยในครั้งแรกที่ขึ้นทะเบียนการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการรักษาหายสูงสุดในการรักษาครั้งแรกเท่านั้น หากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ถูกต้องจะไม่มีโอกาสหายจากวัณโรคและมีโอกาสเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ส่วนผู้ประสานงานวัณโรคต้องติดตามผู้ป่วยให้มารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและต้องประเมินผลการรักษาผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษาตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการขึ้นทะเบียนและการรักษาผู้ป่วยวัณโรค (TB Guideline) ให้ทุกหน่วยงานรับทราบแนวทางดังกล่าว เพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ (New Case) ให้ได้รับการรักษาด้วยระบบยามาตรฐาน ขณะเดียวกัน สนพ.ได้สร้างเครือข่ายการส่งต่อและติดตามผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในสังกัดร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อจัดวางระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มอัตราการรักษาหาย (Cure Rate) ของผู้ป่วยวัณโรคในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี โดยเน้นตามหลักการที่สำคัญของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคคือ วินิจฉัยโรคต้องรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ เปิดให้บริการคลินิกวัณโรค ให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ประกอบด้วย การซักประวัติ ตรวจรักษา เก็บเสมหะ ถ่ายภาพรังสี (หากปฏิบัติได้) รับคำแนะนำสุขศึกษา จ่ายยาและนัดรักษาครั้งต่อไป เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดการแพร่เชื้อวัณโรค
สำหรับการป้องกันวัณโรค ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีผู้ป่วยวัณโรคในบ้านต้องให้รับประทานยาครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน พร้อมให้สมาชิกในครอบครัวตรวจคัดกรองการติดเชื้อ เพื่อรับประทานยาป้องกัน ส่วนผู้ป่วยวัณโรคไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เร่งตรวจสอบการตั้งป้อมเรียกเก็บค่าผ่านสะพานข้ามคลองพระโขนง ยืนยันพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า กรณีเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบการตั้งป้อมเรียกเก็บค่าผ่านสะพานข้ามคลองพระโขนงและถนนภาระจำยอม เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือไม่นั้น สนย.ได้มีหนังสือประสานสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อสอบถามการเรียกเก็บเงินในถนนภาระจำยอมโครงการดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ และเป็นไปตามมาตรการของโครงการที่ผ่านรายงาน EIA หรือไม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องส่งรายงานประจำปีการดำเนินการตามาตรการให้ สผ. พิจารณาตรวจสอบ และขอให้ สผ.ดำเนินการตามกฎหมาย สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่และสะพานข้ามคลองพระโขนง โดยจัดทำรายงาน EIA และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง พ.ศ.2549 ข้อ 14 กำหนดว่า ผู้ขออนุญาตต้องยินยอมยกสะพานที่ก่อสร้างให้เป็นสาธารณประโยชน์และมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาสะพานดังกล่าวให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถใช้งานได้โดยสะดวกด้วย ข้อ 15 ผู้ขออนุญาตต้องมอบเงินให้แก่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของเงินค่าก่อสร้างสะพานที่คำนวณจากราคามาตรฐานของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสภาพคลองบริเวณที่ขออนุญาต และข้อ 40 หากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องใช้สถานที่ หรือแจ้งให้รื้อถอนสะพาน ผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น โดยผู้ขออนุญาตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับอนุญาตก่อสร้าง และได้ใบรับรองการก่อสร้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารถูกต้อง ส่วนการดำเนินการตามมาตรการ EIA ภายหลังจากได้รับใบรับรองการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุในรายงาน EIA และรายงาน สผ.เป็นประจำทุกปี หาก สนย.ตรวจสอบ หรือได้ข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า โครงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม.กล่าวว่า กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ได้อนุญาตให้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง ตามใบอนุญาตเมื่อวันที่ 2 ส.ค.54 ในที่ดินของนายชัยจำนงค์ บุญฉัตร นางสาวกาญจนา บุญฉัตร และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตต้องยินยอมยกสะพานที่ก่อสร้างให้เป็นสาธารณประโยชน์และมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาสะพานดังกล่าวให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ต่อมาสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้สร้างสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะ ประกอบด้วย (1) ป้ายชื่อสะพาน 2 จุด (2) ติดตั้งตราสัญลักษณ์และชื่อสะพานตรงกลางสะพานทั้งสองฝั่ง (3) ติดตั้งตราสัญลักษณ์ตรงราวรั้วสะพานทั้งสองฝั่ง (4) ติดตั้งป้ายโฆษณาตรงเสาไฟประดับทั้งสองฝั่ง และดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยก่อสร้างป้อมยามและโครงเหล็กบริเวณสะพานข้ามคลองพระโขนง เชื่อมระหว่างทางส่วนบุคคลจากซอยสุขุมวิท 77 (ข้ามคลองพระโขนง) และซอยปรีดีพนมยงค์ 2 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา โดยไม่ได้รับอนุญาต สำนักงานเขตฯ จึงมีหนังสือแจ้งให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) รื้อถอนอาคารและสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.63 ซึ่งบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้รื้อถอนสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะ 4 รายการ และอาคารป้อมยามที่ไม่ได้รับอนุญาตออกเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค.63
กทม.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตั้งไฟส่องสว่างถนนกำแพงเพชร 6 พร้อมปรับสัญญาณไฟจราจรแยกถนนเทอดดำริ
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนขอให้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างจากวัดเสมียนนารี – สถานีบางซื่อ พร้อมปรับสัญญาณไฟจราจรบริเวณสี่แยกถนนเทอดดำริว่า สนย.ได้ตรวจสอบบริเวณช่วงถนนใต้คานรถไฟฟ้าสายสีแดง จากอุโมงค์บางซื่อถึงวัดเสมียนนารี พบว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงได้ประสาน รฟท.ทราบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดจัดซ่อมระบบไฟฟ้าส่องสว่างในแนวถนนกำแพงเพชร 6 ตลอดทั้งสาย เพื่อเตรียมส่งมอบให้กรุงเทพมหานครดูแลบำรุงรักษาต่อไป
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ได้ตรวจสอบสัญญาณไฟจราจรบริเวณสี่แยกถนนเทอดดำริในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า – เย็น พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาล (สน.) เตาปูน เป็นผู้ควบคุมการปล่อยจังหวะสัญญาณไฟจราจร จึงได้ประสาน สน.เตาปูนพิจารณากำหนดจังหวะสัญญาณไฟจราจรในระบบอัตโนมัติทั้งในชั่วโมงเร่งด่วนและนอกเวลาชั่วโมงเร่งด่วน โดยให้ปล่อยจังหวะสัญญาณไฟในแต่ละทิศทางให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรในแต่ละช่วงเวลา ขณะเดียวกันได้ประสาน สน.ท้องที่พิจารณาการควบคุมสัญญาณไฟจราจรทางแยกด้วยมือในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า – เย็นให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งปรับการปล่อยจังหวะสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกดังกล่าวให้สัมพันธ์กับปริมาณการจราจรในแต่ละทิศทางต่อไป