กทม.ซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างบนสะพานลอยเชื่อม รพ.จุฬาฯ-รถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง ทั้งกรุงเทพฯ แก้ไขไปแล้วกว่า 2.2 หมื่นดวง
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์สะพานลอยคนข้ามเชื่อมโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กับทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดง ไฟฟ้าชำรุดดับมืด ผู้สัญจรส่วนใหญ่ จึงเลี่ยงไปใช้ทางข้ามด้านล่างแทน ส่วนช่วงกลางวันจะมีคนเร่ร่อนมานอนว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยเบสท์ (BEST) ลงพื้นที่ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างดับชำรุด 3 จุด ได้แก่ บริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามที่เชื่อมระหว่างโรงพยาบาลจุฬาฯ กับทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดง พบไฟฟ้าส่องสว่างดับ 54 ดวง ริมถนนบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ฝั่งถนนราชดำริถึงสะพานลอย ระยะทาง 100 เมตร พบไฟฟ้าส่องสว่างดับ 2 ดวง และฝั่งถนนพระรามที่ 4 ถึงสะพานลอย ระยะทาง 100 เมตร พบไฟฟ้าส่องสว่างบนทางเท้าดับ 3 ดวง ทั้งนี้ ได้ประสานขอความร่วมมือสำนักการโยธา กทม.เข้าซ่อมแซมหลอดไฟฟ้าชำรุดในบริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีคนเร่ร่อนนอนบนสะพานลอยคนข้าม ได้ทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่พบเห็นกลุ่มคนเร่ร่อนมาใช้พื้นที่สะพานลอยหลับนอนมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราและกวดขันอย่างต่อเนื่องไม่ให้มีคนเร่ร่อนมาหลับนอนในพื้นที่ดังกล่าว
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขไฟฟ้าส่องสว่างดับชำรุดบริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามที่เชื่อมระหว่างโรงพยาบาลจุฬาฯ กับทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สนย.และสำนักงานเขต ได้สำรวจและซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างที่ดับชำรุดอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วกว่า 22,000 ดวง
กทม.เข้มงวดกวดขันจับปรับขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าถนนสีลม
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์ปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าจำนวนมากบริเวณใกล้แยกสีลม เขตบางรัก ว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตบางรักเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าบริเวณถนนสีลม รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่กวดขัน จับ-ปรับผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ห้ามขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตฯ ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยออกตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าตามถนนต่าง ๆ รวมทั้งตั้งจุดจับ-ปรับบริเวณที่มีการฝ่าฝืนจำนวนมาก โดยระหว่างเดือน ก.ค.61 – 28 ก.พ.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนแล้ว 46,990 ราย ปรับเป็นเงิน 51,145,169 บาท และหากผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย เฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าจนได้รับบาดเจ็บ หรือต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด พร้อมทั้งส่งเรื่องให้สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ดำเนินคดีอาญาอีกข้อหาหนึ่งด้วย
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการตามโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม.กับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อจัดระเบียบเมือง รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ www.bangkok.go.th/reward เพจเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ หรือแจ้งโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ทุกสำนักงานเขต หากข้อมูลที่แจ้งนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่ง จากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้มากขึ้น
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ร่วมกวดขัน จับกุม ดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะที่สามารถระบุตัวตนได้ บริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม พบผู้ฝ่าฝืน จำนวน 3 ราย จึงได้จับปรับผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามโครงการกวดขันรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้า รวมถึงการแจ้งเบาะแส เพื่อรับส่วนแบ่งค่าปรับของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ กวดขัน ตรวจตรา เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำความผิด และการตั้งจุดจับ-ปรับผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า เพื่อป้องปรามไม่ให้มีผู้กระทำความผิดและป้องกันอันตรายกับประชาชนที่สัญจรบนทางเท้า หากพบผู้กระทำความผิด นอกจากดำเนินการตามกฎหมายแล้ว จะได้แนะนำให้ความรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่เคารพกฎจราจรและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้าเป็นลำดับแรก