ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเร่งด่วน ที่ต้องหาทางแก้ไขโดยเร็วและยั่งยืน ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการได้มีมติ “ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ” ในพื้นที่ 17 จังหวัด และแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567-2570 โดยมีมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญ อาทิ
1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤติ หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง ระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์ เครื่องมือ อากาศยาน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น
2.ให้กระทรวงมหาดไทยกำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ รวมถึงห้ามบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาในที่โล่งในช่วงนี้ และให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น
3.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำชับให้งดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้
4.ให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
5.ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จัดห้องปลอดฝุ่น แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น รวมถึงยารักษาโรค จัดบริการคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำ และดูแลด้านสุขภาพกับประชาชน
ส่วนมาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567-2570 มีมาตรการที่สำคัญ อาทิ 1.ให้สำนักงบประมาณพิจารณาการจัดสรรงบบูรณาการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 2.ให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อุดหนุนให้กับ อปท. 3.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงการคลังพิจารณากำหนดมาตรการจูงใจในการนำรถเก่าออกจากระบบ และมาตรการจำกัดปริมาณรถ และโรงงาน4.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เพิ่มระบบติดตามตรวจสอบและบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง 5.ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้มงวดมาตรการปลอดการเผาสำหรับพื้นที่เกษตร (zero burning) ในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และข้าว เช่น กำหนดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการเพิ่มมูลค่าวัสดุชีวมวลทางการเกษตรโดยให้หน่วยงานจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการฯ 6.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าทางเกษตร ที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5
7.ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเพิ่มการรับซื้อชีวมวล เพื่อผลิตพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน 8. ให้กระทรวงการคลังมีมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจเกษตรกรปลอดการเผา เช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรในภาคการเกษตร
ทั้งนี้ฝุ่นในพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร และฝุ่นในพื้นที่ต่างจังหวัดมีสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยฝุ่นในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่มาจากปัญหาการจราจรผสมกับฝุ่นที่เกิดจากเผาในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อแก้ต้นเหตุของฝุ่นในพื้นที่เขตเมือง ล่าสุดกรุงเทพมหานคร จัดแถลงข่าว ข้อค้นพบจากนักสืบฝุ่นในประเด็นต้นตอที่แท้จริงของการเกิดฝุ่นในกรุงเทพฯ และการล้างถนนและฉีดพ่นน้ำสามารถลดฝุ่นได้หรือไม่
ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงต้นตอฝุ่นในช่วงนี้จะมาจากการเผาไหม้ชีวมวลจากภายนอกและลอยเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะในช่วงเวลานี้อากาศไม่นิ่ง เมื่อบวกกับฝุ่นที่มีในกรุงเทพฯ เองมาจากการจราจร ทำให้เห็นตัวเลขของฝุ่นขึ้นไปแตะสูงมาก ส่วนการแก้ไขปัญหาการเผาไหม้ที่อยู่ข้างนอกจะต้องลดลงให้ได้ เดิมใช้มาตรการห้ามเผาแต่ก็มีการเลี่ยงไปเผาได้ช่วงอื่น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะใช้วิธีการห้ามเผาหรือกำหนดช่วงเวลาในการจัดการแทน
ด้าน รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (AIT) กล่าวว่า จากที่ ทดลองฉีดพ่นละอองน้ำรวมถึงการล้างถนนที่โรงเรียนวิชูทิศ จะเห็นว่ามีผลการเปลี่ยนแปลงน้อยมากถ้าเทียบกับปริมาณน้ำและค่าไฟฟ้าที่เสียไป โดยพบว่าค่าเฉลี่ยในชั่วโมงระหว่างที่เปิดสเปรย์น้ำกับไม่เปิดน้ำค่าฝุ่นต่างกันแค่ประมาณ 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วงปกติค่าผันผวนของปริมาณฝุ่นจะอยู่ที่ 3-4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่แล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามีผลแตกต่าง ซึ่งถ้าเทียบกับความคุ้มแล้วจึงคิดว่าไม่คุ้ม
“สำหรับองค์ประกอบฝุ่นใน กทม. จาก 90 มคก./ลบ.ม. พบว่า 30 มคก./ลบ.ม. แรก มาจากการจราจร 30 มคก./ลบ.ม. ต่อมา มาจากสภาพอากาศ และ 30 มคก./ลบ.ม. สุดท้าย มาจากการเผาชีวมวล” นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอัปเดตแนวทางการลดปัญหาฝุ่นขณะเดียวประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่นกันถ้วนหน้าแล้วความหวังคือรัฐบาลจะมีมาตรการทางกฎหมาย ที่เข้มข้นอย่างไรสำหรับผู้ก่อให้เกิดฝุ่น.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 มี.ค. 2566 (กรอบบ่าย)