(18 มี.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่กิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เขตทวีวัฒนา เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามนโยบาย ความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรค และให้คำแนะนำเพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานเขตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
⚫️ติดตามแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทวีวัฒนา
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า พื้นที่เขตทวีวัฒนา เป็นเขตที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัย อยู่ในผังเมืองประเภทเขียวลาย มีพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ประชากรกว่า 80,000 คน โดยมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากถึง 154 แห่ง ขณะที่มีชุมชนอยู่แค่ 17 แห่ง จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวของหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ตัวเลขที่น่าสนใจตัวเลขหนึ่งก็คือการจัดเก็บรายได้ จากปี 2561 เก็บภาษีได้ประมาณ 66.83 ล้านบาท ส่วนปี 2565 จัดเก็บได้ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่าส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ทำให้เจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งเขตทวีวัฒนาเป็นหนึ่งในไม่กี่เขตที่สามารถจัดเก็บได้มากขึ้น เป็นประเด็นฝากรัฐบาลใหม่ดูแลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นอกจากนี้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนเจ้าของกรรมสิทธิ์พื้นที่แปลงเกษตรกรรม 61,494 ราย เนื้อที่รวม 224,895 ไร่ ทำเกษตรกรรมจริง 53,429 แปลง เก็บภาษีได้ 28.22 ล้านบาท เป็นเกษตรกรรมจำแลง 32,743 แปลง ส่วนต่างการจัดเก็บภาษีที่ดินที่เป็นเกษตรกรรมจำแลงกับภาษีการใช้ประโยชน์ประเภทอื่น 856.25 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องนี้มีผลกระทบในหลายมิติ จึงขอฝากรัฐบาลให้พิจารณาในจุดนี้เนื่องจากเกษตรกรรมจำแลงทำให้กรุงเทพมหานครมีรายได้น้อยลง
สำหรับปัญหาในพื้นที่เขตทวีวัฒนาคือปริมาณฝุ่นละอองสูง อาจเนื่องจากตำแหน่งของตัววัดฝุ่น การมีศูนย์ขนส่งสินค้าในพื้นที่หลายแห่ง ปัญหาการก่อสร้างหมู่บ้าน ซึ่งมอบหมายให้เขตควบคุมกำกับการก่อสร้าง ส่วนปัญหาศูนย์ขนส่งจำนวน 200 กว่าราย หลายรายย้ายมาอยู่ก่อนที่จะมีประกาศผังเมือง เขตได้เข้าไปแจ้งข้อมูลพร้อมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องของการขนส่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องหารือกรมการขนส่งทางบก และกทม.อาจจะต้องหาพื้นที่ให้ศูนย์ขนส่งได้อยู่ร่วมกันและกำหนดผังเมืองเฉพาะให้
ในส่วนของปัญหาอื่น ๆ ที่ได้รับการรายงาน ประกอบด้วย ความล่าช้าของโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3 และพุทธมณฑลสาย 4 มีปัญหาน้ำท่วม ได้เร่งรัดให้ดำเนินการตามสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้เร่งแก้ไขปัญหาความสกปรก ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดสนามหลวง 2 ด้วย นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ยังพบว่าเขตทวีวัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจปลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ต่อไปคงต้องเข้ามาดูเรื่องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อให้ครบวงจรมากขึ้น
⚫️มาตรการ work from home กับปัญหาฝุ่นละออง
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงมาตรการ work from home ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ร่วมกับกทม.ดำเนินมาตรการ work from home ซึ่งได้ให้เขตรวบรวมบริษัทเพิ่มเติม เชื่อว่า 6 เดือนจากนี้ไป จะเกิดเป็นเครือข่ายจะเข้มแข็งมากขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การ work from home อาจไม่ได้ช่วยในการลดฝุ่นมากนัก เพราะในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองมาก อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น การเผาชีวมวล หรือสภาพอากาศปิด ซึ่งการ work from home จะช่วยทำให้ประชาชนเจอกับฝุ่นน้อยลง ไม่กระทบกับสุขภาพ ทั้งนี้ การจะทำให้การ work from home มีประสิทธิภาพ กทม.ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการประกาศล่วงหน้าด้วย
⚫️ฝากรัฐบาลชุดใหม่ร่วมแก้ปัญหาให้กทม.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยกทม.ก็มีส่วนสำคัญ แต่ไม่สามารถทำทั้งหมดได้ ต้องขอฝากรัฐบาลเอาจริงเอาจังและดำเนินการตามแผนแม่บทด้วย
สิ่งสำคัญลำดับแรก คือ การกำกับให้ใช้เครื่องยนต์ที่มีมาตรฐานสูง เรื่องการใช้มาตรฐานยูโร 6 ซึ่งเราเลื่อนมาหลายหนแล้ว สุดท้ายเลื่อนไปปีหน้า ก็ขอให้บังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะว่าเรื่องนี้ กทม.ไม่มีอำนาจไปบังคับใช้ว่าให้ใช้เครื่องยนต์ยูโร 6 หรือแม้กระทั่งน้ำมันกำมะถันต่ำ
ลำดับที่สอง คือ ดูแลเรื่องเครื่องยนต์เก่า ปัจจุบันรถเครื่องยนต์เก่าเสียภาษีถูกลงตามปีที่ใช้ อนาคตอาจจะต้องมีการใช้กฎหมายกำกับเครื่องยนต์ที่ทำให้เกิดมลพิษ เช่น มีภาษีสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยผู้มีรายได้น้อยที่มีเครื่องยนต์เก่าให้สามารถปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพ
ลำดับที่สาม คือ นำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) มาใช้จำกัดพื้นที่ไม่ให้รถวิ่ง ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันกับตำรวจว่าพื้นที่นี้รถเข้าได้หรือไม่ รวมถึงต้องร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการระบุว่ารถคันนี้ใช้เครื่องยนต์อะไร อาจจะต้องติดไว้ประจำรถเพื่อให้รู้ว่ารถคันนี้ปล่อยควันมากน้อยแค่ไหน ถนนเส้นไหนวิ่งได้ไม่ได้ กทม.อาจจะร่วมมือในการติดตัววัด/ตัวจับว่ารถคันนี้อยู่ประเภทไหน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันในการทำตามแนวคิดนี้
ลำดับที่สี่ คือ การกำจัดการเผาชีวมวล ซึ่งในปีนี้ กทม.ทำได้ค่อนข้างดี เรามีเครื่องอัดฟางไปให้พี่น้องชาวนาที่อยู่แถวหนองจอก มีนบุรี เพื่อให้สามารถนำฟางมาอัดแล้วนำไปขายต่อได้ เพราะหากให้ประชาชนลงทุนเครื่องกำจัดชีวมวลเอง บางทีเขาไม่คุ้มทุน จึงคิดว่านอกเหนือจากการที่รัฐบาลหรือภาคส่วนอื่นดูในเรื่องของการประกันราคา หรือราคาสินค้าเกษตรแล้ว อาจจะต้องพ่วงไปกับการกำจัดชีวมวล คือต้องช่วยเขา เช่น รับซื้อมา เพื่อจะได้ลดการเผา เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจังเช่นกัน
ลำดับที่ห้า นโยบายที่มีอยู่ในแผนแห่งชาติ เช่น การย้ายท่าเรือคลองเตย คงต้องกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังเลยว่าสุดท้ายแล้ว จะช่วยให้ลดฝุ่นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ลดจำนวนรถบรรทุกที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ถึงแม้ไม่ใช่การย้ายหมด แต่ก็สามารถลดการประกอบการลงให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อลดการเกิดมลพิษและมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น
ข้อเสนอแนะเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องฝากไว้รัฐบาลใหม่ด้วย กทม.พร้อมจะทำงานร่วมกับทุกคน เราก็พยายามทำในหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ตลอดช่วงที่ผ่านมา
⚫️คณะผู้บริหารกทม. ร่วมลงพื้นที่พบปะประชาชน เยี่ยมชมสวนเกษตร แหล่งเศรษฐกิจ และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา
ในช่วงบ่าย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่ จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมชุมชนคลองเนินทราย เพื่อพบปะประชาชนในชุมชน รับทราบปัญหา และตรวจจุดที่จะสร้างเขื่อนคลองเนินทรายและถนนในซอยดังกล่าว จุดที่ 2 เยี่ยมชมสวนเกษตรกล้วยไม้ตัดดอก ชมวิถีเกษตรชุมชนการปลูกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่เป็นเกษตรครัวเรือน จุดที่ 3 ตรวจเยี่ยมแหล่งเศรษฐกิจในพื้นที่ อาทิ ตลาดธนบุรี สนามหลวง 2 ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต จุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่ที่ต่อจากโครงการถนนจรัญสนิทวงศ์ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 4 ช่วงถนนพุทธมณฑลสาย 3 จุดที่ 5 ตรวจสภาพการจราจรการขนส่งสินค้าที่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ช่วงหน้าบริษัท LSR จุดที่ 6 เยี่ยมชมสวนป่าทางต่างระดับพุทธมณฑลสาย 2 – คลองบ้านไทร
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทวีวัฒนา คณะผู้บริหารกทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังกัดกทม. หน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง
——