(17 มี.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระดับสำนักงานเขต โดยมี คณะกรรมการวิสามัญฯ ประธานคณะอนุกรรมการ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นการใช้จ่ายงบประมาณ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารเขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดุสิต ดินแดง ห้วยขวาง พญาไท และราชเทวี ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแต่ละรายการ อาทิ เขตพระนครดำเนินการปรับปรุงถนนบ้านหม้อ ปรับปรุงโรงเรียนราชบพิธ โรงเรียนวัดใหม่อมตรส เขตสัมพันธวงศ์ดำเนินการปรับปรุงซอยเยาวราช 6 เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรถนนมังกร ระยะทาง 400 เมตร เขตดุสิต ดำเนินการขุดลอกคู คลอง 3 แห่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตจากการลงพื้นที่จริง ประกอบด้วย การปรับปรุงถนน ซอย หากเดิมเป็นแอสฟัลท์ ควรเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อความแข็งแรงและสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น การปรับปรุงทางลัด ทางเชื่อม ควรมีการกำหนดเนื้องานตีเส้นจราจรเพื่อกำหนดทิศทางและให้ผู้ขับขี่มีความปลอดภัย การสร้างหรือปรับปรุงทางเท้าควรมีมาตรฐานเดียวกันทั้งกทม. นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าในการก่อสร้างทางลัดทางเชื่อมควรมีการก่อสร้างคันชะลอความเร็วด้วย รวมทั้งปัจจุบันยังพบปัญหาว่าโครงสร้างอาคารเรียนหลายแห่งบางส่วนซึ่งเป็นไม้ มักเกิดปัญหาปลวกกัดกิน จึงให้เขตขอจัดสรรงบประมาณซื้อยากำจัดปลวกเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและนักเรียนด้วย
จากนั้นนางสาวมธุรส เบนท์ ส.ก.เขตสะพานสูง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารเขตวังทองหลาง บางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว และประเวศ และนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารเขตลาดกระบัง หนองจอก และคลองสามวา ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแต่ละรายการ ความสอดคล้องกับเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร และเหตุผลที่ต้องมีการปรับลดงบประมาณ ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการปรับปรุงถนน ตรอก ซอย การเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน การรับน้ำหนักของยานพาหนะ ร่วมกับมาตรฐานของสำนักการโยธาและความคุ้มค่าของงบประมาณ ทั้งนี้ให้สำนักการโยธากำหนดรูปแบบมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเวียนแจ้งให้เขตทราบก่อนเริ่มจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
“เนื่องจากคณะกรรมการวิสามัญฯ ชุดนี้ จะสามารถตัด ปรับ/ลดงบประมาณของหน่วยงานได้เท่านั้น หน่วยงานไม่สามารถขอแปรงบประมาณกลับเข้ามาได้ จึงได้กำชับให้ผู้บริหารหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง แสดงให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นในรูปแบบการรายงานจากการลงพื้นที่จริงของคณะอนุกรรมการประกอบกับแสดงภาพถ่ายปัจจุบัน เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และให้คณะกรรมการวิสามัญฯได้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณางบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าว