espots หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ คือการแข่งขันเกมต่างๆ ในระดับสากล ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม โดย กทม.เริ่มนำมาทดลองกับโรงเรียนในสังกัด ภายใต้นโยบาย open education มุ่งเน้นการเรียนรู้องค์ประกอบรอบด้านของการแข่งขันเกมชี้ให้เห็นว่ายังมีอาชีพอีกมากมายอยู่เบื้องหลังโดยอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญในโครงการโรงเรียนวันเสาร์
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากเริ่มเปิดโครงการโรงเรียนวันเสาร์ให้เด็กๆเลือกเรียนวิชาที่สนใจด้วยตัวเอง ผ่านตัวเลือกวิชาที่หลากหลาย ซึ่ง กทม.เปิดรับอาสาสมัครที่มีความรู้ในด้านต่างๆ มาช่วยสอน เช่นทำอาหาร ศิลปะ เครื่องดื่ม การผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ ดนตรี ภาษา กีฬา เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังสำรวจกิจกรรมหรือวิชาที่เด็กอยากเรียนเสริมเพิ่มเติมเพื่อประสานกับอาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญออกแบบการเรียนการสอนต่อไป
“กทม.เป็นสื่อกลางคอยประสานความต้องการระหว่างเด็กกับผู้เชี่ยวชาญมาเจอกันต้องเรียนว่าเราไม่มีความรู้ทุกเรื่อง แต่เราสามารถประสานกับภาคีเครือข่ายและจัดหาสถานที่ให้กับผู้เรียนได้ เชื่อว่าวิชาหลักที่มีอยู่เดิมในเวลาเรียนหลักมีคุณภาพตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ห้องเรียน esports ต่อยอดมาจากโรงเรียนวันเสาร์ เป็นเหมือนวิชาเสริมที่เด็กเขาเลือกเอง เราไม่บังคับ นอกจากนี้ยังมีวิชาอื่นๆ ที่เขาสนใจ เช่น ภาษา เราก็จัดการเรียนการสอนให้เข้ากับความต้องการของเด็ก เพื่อให้การเรียนรู้สนุกขึ้น ไม่เครียดเกินไป”
ปัจจุบันมีวิชาที่เปิดสอนในโครงการโรงเรียนวันเสาร์ ภายใต้นโยบาย open education อีกมากมาย เช่น ถ่ายทำตัดต่อมวยไทย เขียนโปรแกรมเบื้องต้น ทักษะการเอาตัวรอด ร้องเพลง เต้น การสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ วาดการ์ตูน เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนวันเสาร์ อาจใช้เวลาว่างช่วงใดช่วงหนึ่ง ไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะเป็นการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เลือกตามความสนใจและความสมัครใจของตนเองเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเปิดให้เรียนในวันธรรมดาหลังเลิกเรียนอีกด้วย (เรียนพิเศษ) เน้นให้ผู้ปกครองเสนอวิชาที่อยากส่งเสริมโดยเน้นความสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด
“Open Education เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เติมเต็มการศึกษาให้กับนักเรียนสังกัด กทม. ผ่านความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนแบ่งปันความรู้ที่ตัวเองเชี่ยวชาญให้กับเด็กๆต่อไปเราจะขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ ทั้งครูผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก และอาสาสมัครต่างๆ หัวใจสำคัญคือการสำรวจความต้องการของผู้เรียนผ่านหัวข้อต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ ตอบโจทย์ความต้องการ และสามารถเป็นทักษะติดตัวเด็กต่อไปในอนาคตได้นอกเหนือจากวิชาพื้นฐานที่มีอยู่” นายศานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
นายภัสนัย จิรฤกษ์มงคล ครูอาสาห้องเรียน esports โครงการโรงเรียนวันเสาร์กล่าวว่า การสอนเริ่มจากชี้ให้เห็นว่ามีอาชีพอะไรบ้างอยู่ในกีฬา เช่น ฟุตบอล เริ่มจากการละเล่นสนุกสนาน ออกกำลังกาย ต่อมาเริ่มมีผู้ชม มีการก่อสร้างสนาม มีแพทย์ดูแลนักกีฬามีโค้ช มีกรรมการ รวมถึงนักวิเคราะห์และผู้ผลิตเกมฟุตบอลต่อยอดไปมากมาย จะเห็นว่าหลายอาชีพเข้ามามีส่วนร่วมกับกีฬา เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กรู้จักอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน และเป็นการสอดแทรกวิชาแนะแนวผ่านเกมที่เด็กๆ แข่งขันกันในชั่วโมงเรียน เมื่อถึงเวลาเรียนต่อเด็กจะได้มีข้อมูลในการเลือกเรียนเพื่อประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ การสอน1 ครั้ง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยการจัดแข่งขันเกมที่ผู้เรียนเลือกเอง มีการพากษ์เสียงประกอบการแข่งขันในแต่ละรอบ ตลอดทัวร์นาเมนต์ จำลองการแข่งขันในระดับสากลให้แต่ละทีมจัดหน้าที่ตามศักยภาพที่ตนเองมี
“บางคนอยู่ในชั้นเรียนปกติไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่พออยู่ในการแข่งขันในสิ่งที่เขาชอบเขาก็กล้าแสดงออกมาอย่างเต็มที่ ตำแหน่งต่างๆ ในทีม ก็เหมือนอาชีพต่างๆ ในโลกความจริง การเรียนการสอนลักษณะนี้สอดแทรกให้เขารู้จักหน้าที่และอาชีพต่างๆเป็นข้อมูลพื้นฐานให้เขาเลือกเรียนต่อไปในอนาคต ให้เขาเห็นความจริงว่ายังมีโอกาส อื่นๆ อีกมากมายในโลก”
นางสาวกรรณิการ์ คำแสนครูที่ปรึกษาห้องเรียน esports โรงเรียนแสงหิรัญวิทยา โครงการโรงเรียนวันเสาร์ กล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นนโยบายเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อได้รู้จักอาชีพและวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากที่เรียนตามปกติในโรงเรียน ผ่านแบบสอบถามจากกูเกิลฟอร์มปรากฏว่า วิชาที่มีการโหวตสูงอันดับ 1 คือ Espots อันดับ 2 คือวิชาเทควันโด เมื่อโรงเรียนได้ข้อมูลความต้องการของผู้เรียน จึงส่งไปให้กทม.ส่วนกลางเป็นผู้เปิดรับคัดเลือกอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนต่อไป สิ่งสำคัญคือ ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจอยากเรียนตามความสมัครใจ
“ผู้ปกครองอาจมองว่า espots ทำให้เด็กติดเกม แต่จริงๆ แล้วสามารถสร้างโอกาสและอาชีพให้กับเด็กในอนาคตได้ ที่สำคัญช่วยลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน สิ่งที่เป็นห่วงคือ ผู้ปกครองต้องมีเวลาให้กับนักเรียน เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เด็กทำคืออะไรเป็นเกมอะไรสามารถเล่นด้วยกันได้หรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกันผ่านเกมที่เล่น สามารถแนะนำผ่านมุมมองของกันและกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวมากขึ้น เพราะได้ใช้เวลาร่วมกัน”
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2566