ปกคลุมฟุงทุกพื้นที่! กำชับเข้ม10มาตรการ
ทั่วไทยวิกฤติจมฝุ่นพิษ PM 2.5 นครพนมหนักค่าฝุ่น 189 มคก./ลบ.ม. สูงสุดในไทย เชียงใหม่ถูกจัดอยู่อันดับ 6 เป็นเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก อันดับแรกคือเมืองลาฮอร์ ปากีสถาน ขณะที่ 17 จังหวัดภาคเหนือยังวิกฤติตลอดสัปดาห์ กทม.หนักมากเผชิญฝุ่นอ่วมเกินค่ามาตรฐาน เตือน สภาพอากาศปิดแนวโน้มฝุ่นสูงขึ้น เข้ม 10 มาตรการลดฝุ่น กำชับหน่วยงานปฏิบัติตามแผนเคร่งครัด
หลายพื้นที่ของไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานยังเผชิญกับภาวะฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นควันพิษที่มากที่สุดคือเกิดการเผาป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศและตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 พบค่าฝุ่นระหว่าง 17-189 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 55 -124 มคก./ลบ.ม.พบเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ใน 6 จังหวัด 94 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่สีแดงกระทบต่อสุขภาพ 4 พื้นที่ ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ภาคเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 65-139 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ใน 17 จังหวัด 32 พื้นที่ เป็นพื้นที่สีแดงกระทบต่อสุขภาพ 11 พื้นที่ ได้แก่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต.เวียง อ.เชียงของ ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก และ ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานใน 15 จังหวัด 15 พื้นที่ เป็นพื้นที่สีแดงกระทบต่อสุขภาพ 4 พื้นที่ ได้แก่ ต.กุดป่อง อ.เมืองเลย ต.มีชัย อ.เมืองหนองคาย ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ โดยเฉพาะที่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม ค่าฝุ่น 189 มคก./ลบ.ม. สูงสุดในไทย ภาคกลาง ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 49-103 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 11 จังหวัด 12 พื้นที่ เป็นพื้นที่สีแดง 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.บางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี
ภาคตะวันออก ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 53 -86 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 7 จังหวัด รวม 14 พื้นที่ ด้านกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วันที่ 9 มี.ค.อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ แต่หลังวันที่ 9 มี.ค.ไป สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองสูงขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่าง ระหว่างวันที่ 9-14 มี.ค.
ที่ จ.เชียงใหม่ เช้าวันเดียวกันนี้ สภาพตัวเมืองเชียงใหม่ตลอดช่วงเช้าถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาทึบ ผลตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ พบที่ ต.ช้างเผือก ต.ศรีภูมิ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว และ ต.หางดง อ.ฮอด ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่เว็บไซต์ Iqair.com ที่รายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก วันเดียวกันนี้ว่า จ.เชียงใหม่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก โดยอันดับแรกคือเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน
ที่ จ.ชัยภูมิ เกิดเหตุมีผู้เผาป่าจนไฟลามไปไหม้รถเก๋งที่จอดเสียอยู่หน้าบ้านเลขที่ 661 หมู่ 2 ต.รอบเมือง อ.เมืองชัยภูมิ นายวัชระ มะนีเนตร อายุ 58 ปี เจ้าของบ้านและเจ้าของรถที่ถูกไฟไหม้เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุเห็นไฟกำลังลุกไหม้ป่าข้างบ้านเพียงนิดเดียว จึงนำน้ำมาฉีดดับไฟแต่น้ำไหลไม่แรงและไฟลุกโหมไหม้อย่างรวดเร็วจนไหม้รถและกำลังจะลามเข้าบ้านจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเทศบาลเมืองชัยภูมิให้มาช่วยเหลือไว้ได้ทัน พ.ต.อ.สมิต นันท์นฤมิตร ผกก.สภ.เมืองชัยภูมิ นำตำรวจไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ สอบถามพยานแวดล้อมว่ามีใครจุดไฟเผาป่าหรือไม่ เบื้องต้นประเมินค่าความเสียหายทั้งรถจักรยานยนต์และรถเก๋งที่จอดเสียอยู่ราว 80,000 บาท
ที่ จ.นครพนม สถานการณ์มลพิษทางอากาศยังวิกฤติ ตลอดทั้งวันที่ 8 มี.ค.ในพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ที่ติดกับแม่น้ำโขงกั้นแดนไทย-ลาว ตั้งแต่ช่วงบ่าย สภาพอากาศเหมือนเป็นเมืองในหมอกมีค่า PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เมื่อถ่ายภาพในมุมสูงจะเห็นชัดเจนว่ามีหมอกควันปกคลุม จนไม่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของฝั่ง สปป.ลาว อีกทั้งตลอดถนนเลียบแม่น้ำโขงมีหมอกควันปกคลุมหนา ทำให้ประชาชน นักท่องเที่ยวที่อยู่ในที่โล่งแจ้งมีอาการระคายเคืองตา แสบจมูก เป็นอุปสรรคในการขับรถสัญจรไปมา หน่วยงานเกี่ยวข้องได้แจ้งเตือนประชาชนทุกอำเภอให้งดเผาป่าพื้นที่การเกษตร เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังบังคับใช้กฎหมายสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืนเผาป่าและพื้นที่การเกษตร โดยจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด
ส่วนที่ จ.บึงกาฬ พื้นที่ในเมืองและหลายอำเภอ ยังเผชิญกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ท้องฟ้าหลัว ขุ่นมัวไปด้วยหมอกควันและฝุ่นละออง ปกคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณกลางแม่น้ำโขง ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าระหว่างเมืองบึงกาฬ -เมืองปากซัน สปป.ลาวและเรือรับส่งผู้โดยสาร ต้องเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือขนส่งสินค้า เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นสั้นลง ขณะที่จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ พบฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้านสถานการณ์ไฟไหม้ป่าเขาบรรทัด แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด่านบ้านเนินมะม่วง ต.นนทรีย์ และบ้านด่านชุมพล ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด ที่ขณะนี้เหตุการณ์เข้าสู่วันที่ 12 แล้ว นับตั้งแต่ไฟป่าจากประเทศกัมพูชา ลามเข้าไทยเมื่อ 26 ก.พ.และลุกลามขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น ส่วนการป้องกันไฟป่ายังคงดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งทางภาคพื้นและทางอากาศ จังหวัดได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเข้าร่วมดับไฟ สร้างแนวกันไฟและเฝ้าระวังไฟลามเข้าพื้นที่สวนของชาวบ้านตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ใช้วิธีการเผาย้อนกลับตัดเส้นทางไม่ให้ไฟลามและด้วยขีดจำกัดของพื้นที่ที่มีทั้งทุ่นระเบิดและช้างป่าทำให้มีอุปสรรคอย่างมากในการดับไฟ ขณะที่หมู่บ้านทับทิมสยาม ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ ที่ติดกับพื้นที่ไฟป่ากลายเป็นหมู่บ้านสีแดงมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ที่ จ.กาญจนบุรี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) หัวหน้าอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า (ชุดเสือไฟ) ที่เดินทางมาจากศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านครศรีธรรมราชและศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านราธิวาส หน่วยบินกระทรวงทรัพย์ฯ ร่วมกำหนดแผนการบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมดับไฟป่าในพื้นที่กาญจนบุรี และกำชับอุทยานต่างๆเร่งสำรวจ ประชาสัมพันธ์ถึงกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่มีอาชีพเลี้ยงวัวควาย ให้ปฏิบัติตามระเบียบของอุทยานในการร่วมมือแก้ปัญหาไฟป่าอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงวัวในเขตป่า วันเดียวกันนี้เฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 2 ลำ บรรทุกน้ำ 19,000 ลิตร ไปทิ้งน้ำดับไฟป่า รวม 38 เที่ยวบิน ในพื้นที่ทิศเหนือของ อช.เขื่อนศรีนครินทร์และบ้านโบอ่อง ต.ปิล๊อค อ.ทองผาภูมิ สามารถยับยั้งสกัดการลุกลามของไฟป่าเป็นแนวยาว 1 กม.
อีกด้าน ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพ มหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 ในเวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 61-103 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของ กทม. 78.8 มคก./ลบ.ม.พบค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 70 พื้นที่ ได้แก่ 1.ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 2.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 และ 3.เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดถนนบรมราชชนนี 4.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 5.ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ 6.ภายในสำนักงานเขตบางเขน 7.บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก 8.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 9.ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ 10.ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา 11.เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม 12.สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตรงข้ามสำนักงานเขตมีนบุรี 13.สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอยเซนต์หลุยส์ 14.หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี บางนา 15.หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสำนักงานใหญ่ 17.เขตบางกอกใหญ่ บริเวณสี่แยกท่าพระ
18.สวนรมณีย์ ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง 84 มคก./ลบ.ม. 19.บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย 20.ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ 21.ป้าย รถเมล์หน้าสำนักงานเขตสายไหม 22.ภายในสำนักงานเขตบางพลัด 23.หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ 24.ภายในสำนักงานเขตคลองเตย 25.ด้านข้างสำนักงานเขตดอนเมือง 26.ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบัง 27.บริเวณหน้าหัวมุมซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) 28.เขตคันนายาว บริเวณปากทางถนนสวนสยามตัดกับถนนรามอินทรา 29.สวนหนองจอก เขตหนองจอก 30.เขตบางรักข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า เป็นต้น
ที่ศาลาว่าการ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกทม. ลงนามหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัด กทม.กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด หลังสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 รวม 10 มาตรการ อาทิ เข้มงวดตรวจวัด ตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขันห้ามจอดรถในถนนสายหลักสายรองตลอดเวลา ขอความร่วมมือทำงานแบบ WFH ใช้รถเท่าที่จำเป็น ควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำบิ๊กคลีนนิ่งบริเวณสถานที่ก่อสร้างและแพลนต์ปูนงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท หากประชาชนเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ แจ้งเบาะแสผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue
สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุจากฝุ่น PM 2.5 เข้ารับการปรึกษาได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ณ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 6 แห่ง ประกอบด้วย รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร รพ.ราชพิพัฒน์ ในเวลา 08.00-15.00 น. หรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
บรรยายใต้ภาพ
เมืองในฝุ่น ภาพมุมสูงจากภูเขาทอง วัดสระเกศ พบว่าตึกสูงหลายแห่งใน กทม.มองเห็นในระยะไกลไม่ชัดเจนเนื่องจากมีฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมทั่วกรุง หลายพื้นที่ยังมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จนมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2566