คัดแยกขยะแหล่งกำเนิดเขตสาทร ติดตามการใช้งานจัดเก็บภาษีระบบ BMA TAX พัฒนาสวน 15 นาทีหลังตลาดแสงจันทร์ ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดดอน จัดระเบียบผู้ค้าซอยสะพานคู่ถนนพระรามที่ 4 ตรวจฝุ่นจิ๋วไซต์งาน The Crown Rama 4
(3 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ เพื่อส่งเสริมและลดการคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด สำนักงานเขตสาทร มีข้าราชการและบุคลากร 350 คน วิธีการคัดแยกขยะตามประเภท ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) คัดแยกแล้วนำไปรวบรวมที่จุดรับขยะรีไซเคิล 2.ขยะเศษอาหาร (ถังสีเขียว) คัดแยกแล้วใส่ถังเล็ก นำไปเทรวมที่ถังใหญ่ ส่งต่อไปที่ศูนย์เรียนรู้ โคก หนองนา เพื่อนำไปทำน้ำหมักเศษอาหาร 3.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) จัดเก็บเป็นประจำทุกวัน นำส่งศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) รวบรวมไว้ ส่งศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 5.ขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) รวบรวมและนำส่งบริษัทกรุงเทพธนาคม นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก และขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนี้ เดือนพฤศจิกายน 2565 ขยะรีไซเคิล 287.8 กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 112.5 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 255.5 กิโลกรัม รวม 655.8 กิโลกรัม เดือนธันวาคม 2565 ขยะรีไซเคิล 124.5 กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 129.5 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 165.5 กิโลกรัม รวม 419 กิโลกรัม
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) ในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีของปี 2566 และระบบจัดเก็บภาษีสำหรับน้ำมันฯ แบบใหม่ (OIL TAX) ผ่านทางเว็บไซต์ ศักยภาพของอุปกรณ์ที่ใช้งานและประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนติดตามการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 20,896 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28,292 แห่ง ห้องชุด 15,168 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 64,356 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ส่วนการใช้ที่ดินประเภทเกษตรกรรม มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ 16 แปลง เกษตรกรรมจริง 2 แปลง เกษตรกรรมจำแลง 14 แปลง
พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมหลังตลาดแสงจันทร์ ซอยเจริญกรุง 76 พื้นที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเก็บเศษวัสดุและปรับสภาพพื้นดิน เพื่อสร้างลานคอนกรีตและปลูกต้นไม้ กำหนดเส้นเขตแดนสำหรับการถมดิน เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำพื้นที่ลู่วิ่งแอสฟัลต์ ลานคอนกรีตอเนกประสงค์ บ่อทราย ลานอุปกรณ์บริหาร สำหรับสวน 15 นาที เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทาง 800 เมตร ปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในชุมชน ให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อสร้างประโยชน์ใช้สอย สำหรับการออกกำลังกายพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน รวมถึงเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดดอน มีครูบุคลากรและนักเรียน รวมทั้งสิ้น 389 คน วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติกแยกทิ้งลงในตะกร้า กระดาษพับรวบรวมไว้ที่จุดทิ้งกระดาษ พนักงานสถานที่จัดเรียงแล้วมัดรวมนำไปจำหน่าย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง กล่องนมโรงเรียน เมื่อนักเรียนดื่มนมเสร็จแล้วให้นักเรียนพับกล่อง ตัวแทนนักเรียนเก็บรวบรวมนำมาทิ้งในถุงดำแยกไว้ เขตฯ มารับทุกๆ 15 วัน 2.ขยะเศษอาหาร คัดแยกใส่ถังขยะมีถุงดำรองรับ แบ่งเป็นถังเศษอาหารเหลือจากที่รับประทาน 1 ถัง เศษผักและผลไม้ 1 ถัง ถุงพลาสติกที่ใส่บรรจุภัณฑ์ต่างๆ 1 ถัง พนักงานสถานที่นำไปทิ้งที่จุดรวมขยะ เขตฯ มารับไปวันต่อวัน หรือมีผู้มารับเศษอาหารนำไปใช้ประโยชน์ ขยะทั่วไป แต่ละห้องเรียน มีถังขยะประจำห้อง ทุกเช้าและเย็นจะนำขยะลงมาทิ้งในถังขยะรวมด้านล่าง ขยะประเภทเปลือกขนมต่างๆ ทุกคนนำไปทิ้งในถังขยะที่แยกไว้ต่างหาก (ถังทิ้งเปลือกขนม) พนักงานสถานที่เก็บรวบรวมไว้ในถุงดำ เขตฯ มารับทุกๆ 15 วัน 3.ขยะอันตราย พนักงานสถานที่จะเก็บรวบรวมใส่ถัง และแจ้งให้เขตฯ มารับไปกำจัดอย่างถูกวิธี 4.ขยะติดเชื้อ ทิ้งในถังขยะติดเชื้อใส่ในถุงแดงหรือถุงดำ พนักงานสถานที่ ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนมัดปากถุง เขตฯ เก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธีทุกสัปดาห์สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก และขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนี้ เดือนธันวาคม 2565 ขยะรีไซเคิล 35 กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 380 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 80 กิโลกรัม ขยะอันตราย/ขยะติดเชื้อ 5 กิโลกรัม รวม 500 กิโลกรัม เดือนมกราคม 2566 ขยะรีไซเคิล 70 กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 380กิโลกรัม ขยะทั่วไป 86 กิโลกรัม ขยะอันตราย/ขยะติดเชื้อ 5 กิโลกรัม รวม 551 กิโลกรัม
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสะพานคู่ ถนนพระรามที่ 4 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ดังนี้ 1.บริเวณตลาดเจซี ตั้งแต่ปากซอยจันทน์ 18/4 ถึงปากซอยจันทน์ 18/10 ผู้ค้า 42 ราย 2.บริเวณถนนสาทรใต้ ซอย 11 ตั้งแต่ปากซอย 11 ถึงตรงข้างทางออกอาคาร AIA ผู้ค้า 15 ราย 3.บริเวณหน้าตลาดกิตติถนนเซนต์หลุยส์ ตั้งแต่ปากซอยจันทน์ 18/7 แยก 3 ถึงปากซอยจันทน์ 18/7 แยก 7 ผู้ค้า 46 ราย 4.บริเวณถนนสวนพลู ตั้งแต่ปากซอยสวนพลู 6 ถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้ค้า 14 ราย 5.บริเวณหน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ตั้งแต่หน้าบ้านเลขที่ 26/36 ถึงบ้านเลขที่ 26/20 ผู้ค้า 15 ราย 6.บริเวณซอยนราธิวาสฯ 11 ตั้งแต่ปากซอย 11 ถึงตู้สายไฟฟ้า ผู้ค้า 5 ราย 7.บริเวณถนนสาทรใต้ปากซอย 13 ตั้งแต่หน้าเซเว่นถึงกำแพงโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ผู้ค้า 12 ราย 8.บริเวณปากซอยจันทน์ 41/1 ถึงปากซอยจันทน์ 43 ผู้ค้า 14 ราย 9.บริเวณหน้าโรงเรียนศรีสุริโยทัย ตั้งแต่หน้าร้านศรีสยามถึงบ้านพระยาจ่าแสน ผู้ค้า 11 ราย 10.ถนนพระรามที่ 4 ซอยสะพานคู่ ผู้ค้า 27 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ รวมถึงยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน และย้ายผู้ค้าที่อยู่ติดถนนใหญ่หรือปากซอยให้เข้าไปด้านใน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการอาคารชุด เดอะคราวน์ พระราม 4 (The Crown Rama 4) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารชุด) ความสูง 32 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบวัดค่าควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนที่ผ่านเข้า-ออก ติดตั้งตาข่ายกันฝุ่นให้ครอบคลุมอาคารที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)