กรุงเทพฯ – โตเกียว จับมือพัฒนาเมืองน่าอยู่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เยือนโตเกียว ตามคำเชิญ ผู้ว่าฯ เอริโกะ ร่วมหารือเมืองอัจฉริยะ – รับมือภัยพิบัติ

 

 

 

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 8 – 11 พ.ค. 68 เพื่อร่วมงาน “SusHi Tech Tokyo 2025” ตามคำเชิญของ นางสาวโคอิเกะ ยูริโกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (Ms. KOIKE Yuriko, Governor of Tokyo) เมื่อครั้งเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา โดยมี นายคุณานพ เลิศไพรวัลย์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมคณะ

 

ทั้งนี้ งาน “SusHi Tech Tokyo” เป็นเวทีที่ประเทศญี่ปุ่นใช้แสดงศักยภาพการพัฒนาเมืองและเทคโนโลยีผ่านแนวคิด Open Innovation โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สตาร์ทอัพ และองค์กรชั้นนำจากทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับงาน “SusHi Tech Tokyo 2025” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10 พ.ค. 68 ณ Tokyo Big Sight และพื้นที่จัดงานอื่น ๆ ทั่วโตเกียว มีการแสดงผลงานจากสตาร์ทอัพกว่า 500 ราย ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 50,000 คน ภายในงานมีกิจกรรม Networking และโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจมากมาย มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศไทยได้ร่วมออกบูธในการจัดงานครั้งนี้ด้วย โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ร่วมงาน “SusHi Tech Tokyo 2025” Session Theme : Envisioning a more Resilient Bangkok ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9 พ.ค. 68 ณ Tokyo Big Sight 3 Chome-11-1 Ariake, Koto City, Tokyo 

 

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมคารวะ นางสาวโคอิเกะ ยูริโกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (Ms. KOIKE Yuriko, Governor of Tokyo) ณ ห้องประชุมชั้น 7 ศาลาว่าการกรุงโตเกียว พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1. ความร่วมมือตามกรอบแถลงการณ์ร่วมระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงโตเกียว ประกอบด้วย การตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาอัตราการเกิดลดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน อาทิ การตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และด้านนวัตกรรมและเมืองอัจฉริยะ 2. ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร และสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือกรณีพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่เกิดการทรุดตัว ทั้งนี้ กรุงโตเกียวประสงค์มอบเงินช่วยเหลือให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยผ่านสภากาชาดญี่ปุ่น (Japanese Red Cross Society) 3. การสื่อสารข้อมูลด้านภัยพิบัติในหลากหลายภาษา (multilingual dissemination of disaster information) ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวให้ความสนใจในเรื่องการสื่อสารข้อมูลด้านภัยพิบัติในหลากหลายภาษา โดยเฉพาะการดำเนินงานของบริษัท Spectee ซึ่งเป็น start up ของญี่ปุ่นซึ่งให้บริการเก็บข้อมูลภัยพิบัติต่างๆ จากสื่อสังคมออนไลน์ แล้วนำมาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยระบบ AI โดยกองบริหารจัดการภัยพิบัติของกรุงโตเกียว (TMG

Disaster Management Division) ได้นำข้อมูลที่ได้รับจาก Spectee มาช่วยในการตอบสนองต่อภัยพิบัติต่างๆ เช่นกัน ทั้งนี้ Mr. Satoshi Negoro, Chief Operating Officer ของ Spectee ได้เข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการ

กรุงเทพมหานครครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการจัดการ

ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (EWS) และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาประยุกต์ใช้งาน

ในประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ศึกษาดูงานด้านการจัดการน้ำท่วม ณ Underground Regulating Reservoirs รับฟังการบรรยายสรุป เรื่อง ภัยธรรมชาติและระบบการเตือนภัยของประเทศญี่ปุ่น เยี่ยมชม Azabudai Hill เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เพื่อป้องกันภัยพิบัติ ณ Ikebukuro Life Safety Learning Center และศึกษาดูงานด้านการใช้พลังงานทดแทน (solar power)

ณ Tokyo International Cruise Terminal 

                  —–

————–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200