นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 2nd Workshop on Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program” เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และเมืองโยโกฮามา เพื่อเผยแพร่แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นายฮิโรชิ โอโนะ (Mr. Hiroshi Ono) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น นายทาคูโระ ทาซากะ (Mr. TakuroTasaka) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายทาเคฮารุ ยามานากะ (Mr. Takeharu Yamanaka) นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา นายซุซุกิ คาซุยะ (Mr. Suzuki Kazuya) หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย และคณะผู้แทนองค์การ JICA คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม ณ ห้องแมนดารินแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ เขตบางรัก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนนับเป็นประเด็นสำคัญที่แต่ละประเทศให้ความสนใจและเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักในการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮามามาอย่างต่อเนื่อง การประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 2nd Workshop on Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญภายใต้โครงการความร่วมมือ City to City ระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ตามวิสัยทัศน์ระยะยาวของแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ให้เป็นเมืองที่มีความมุ่งพยายามปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ปี พ.ศ. 2593 เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหาในหลายมิติ ซึ่งความร่วมมือในระดับองค์กร เช่น การตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อคำนวณการปล่อยคาร์บอนจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงาน และนำไปกำหนดมาตรการลดคาร์บอนได้
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นความร่วมมือกับเมืองโยโกฮามา ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการลดก๊าซเรือนกระจก บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือบริษัททั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้กรุงเทพมหานครมีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงกรุงเทพมหานครจะจัดให้มีแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน มามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น
“วันนี้ไม่ใช่เพียงจุดเริ่มต้นแต่เป็นความร่วมมือที่มีความต่อเนื่องมายาวนานระหว่างกรุงเทพมหานคร JICA เมืองโยโกฮามาและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมาความร่วมมือกับ JICA มีความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถลดการปล่อยก๊าซฯ ได้มากกว่าเป้าหมาย แม้กรุงเทพมหานครจะมี Master Plan ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2573 แต่ Master Plan จะไม่มีประโยชน์หากขาด Action วันนี้เป็นจุดที่จะเอา Master Plan มาทำให้เป็น Action เมื่อพูดถึง Net Zero หรือว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายคนมองว่าเป็นต้นทุนที่สูง แต่มองในมุมกลับกันคือโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับอนาคต ที่จะเป็นโอกาสทางด้านธุรกิจ ทางด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม เป็น Business Opportunity ไม่ใช่เป็นเรื่องต้นทุน แต่เป็นเรื่องโอกาสที่จะมากับการทำ Master Plan การร่วมมือกับเมืองโยโกฮามาและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องสำคัญเพราะเชื่อว่าเมืองโยโกฮามามีคำตอบ เพราะมีความก้าวหน้าปัญหาคล้าย ๆ กัน และหลาย ๆ อย่างได้ทำสำเร็จแล้ว ด้วยเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นเองหลายอย่างนำมาใช้กับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าการทำ Work Shop วันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในการทำ Plan ให้เกิด Action ของประเทศของกรุงเทพมหานครที่มี Plan เยอะ แต่บางครั้งไม่มี Action หัวใจในวันนี้ทำอย่างไรให้เกิด Action ตาม Master Plan ให้ได้จริง ๆ” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ช่วงเช้าเป็นการบรรยาย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการบรรยาย เป็น 3 หัวข้อ ดังนี้ 1. แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม 2. ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและ JICA – ปัจจุบันและอนาคต โดยผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และ3. กรุงเทพมหานครเมืองน่าอยู่ ที่มุ่งพยายามในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยผู้แทนบริษัท เอะ ครีเอจี้ จำกัด
ส่วนช่วงที่ 2 กลไกคาร์บอนเครดิต และแนวคิดการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) การรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย (REC/I-REC) แนวทางการพัฒนาโครงการและการชดเชยทางคาร์บอน และพื้นที่ทางการเงินสำหรับการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในช่วงบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อย ในหัวข้อการเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด (ไฮโดรเจน แอมโมเนีย CCUS ฯลฯ) และเมืองอัจฉริยะ ระบบการบริหารจัดการพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายของกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจกรรมปิดไฟ ลดโลกร้อน และภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการจัดการพลังงาน และด้านการขนส่ง รวมถึงภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภาคส่วนต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานแล้ว ยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และมุมมองด้านพลังงานสะอาดกลไกการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต โอกาสการลงทุนของกิจการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้ง เป็นส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ และพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกรุงเทพมหานครและภาคเอกชน รวมถึงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนแล้ว กรุงเทพมหานคร ยังพยายามดำเนินการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 เพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครต่อไป
—–