วันนี้เป็นนักศึกษา วันหน้าอาจเป็น “นักดับเพลิงและกู้ภัย กทม.”
วันนี้ (3 มีนาคม 2566) เวลา 09.00 น. นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยนายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนัก และจ.ส.ต.ทศพล คำบุญมา เลขานุการสำนัก ร่วมต้อนรับคณะนักศึกษาระดับปริญาตรี สาขาการจัดการสาธารณภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จำนวน 17 คน นำโดยอาจารย์ ดร.กีรติ ศรีประไหม ประธานหลักสูตรฯ และอาจารย์อจิรา เที่ยงตรง ผู้รับผิดชอบรายวิชาปฏิบัติการบูรณาการ นำคณะนักศึกษาเข้ารับโอวาทการฝึก ประสบการณ์การทำงานตามที่รายวิชากำหนด แบ่งเป็น 3 ฐาน ใน 1 เดือน คือ ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย กลุ่มงานนโยบายและแผน สยภ. และสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน กปก.1 ณ ห้องประชุมสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยนายธีรยุทธฯ ผอ.สปภ. กล่าวว่า การเป็นนักดับเพลิงและกู้ภัย ต้องมีทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน พร้อมเล่าประสบการณ์การเข้าระงับเหตุในหลายๆ เหตุการณ์ นอกจากเหตุไฟไหม้ อาทิ การดับไฟสารเคมีในโรงงานไต๋เหลียง เคมีภัณ์ การกู้ภัยอาคารถล่มจากแผ่นดินไหว ซึ่งจะต้องมีการคำนวณน้ำหนักอาคารที่ถล่ม อาฟเตอร์ช็อก ช่วงเวลาที่อาคารถล่ม เพื่อจะได้ทราบว่าผู้ที่ติดอยู่ในอาคารจะอยู่บริเวณไหน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว เป็นต้น จะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันที ตรงจุด และถูกวิธี เพราะนอกจากช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้รอดชีวิตแล้ว นักดับเพลิงและกู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือต้องปลอดภัยด้วย ดังนั้น การเรียนวิชาความรู้ต่างๆ ต้องตั้งใจและทำความเข้าใจ เพื่อนำความรู้แต่ละด้านมาบูรณาการร่วมกับประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะแต่ละเหตุ วิธีการระงับ แก้ไข หรือช่วยเหลือ มีวิธีการไม่เหมือนกัน และหลังเกิดเหตุ ก็จะมีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบภัย เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในระดับหนึ่ง จึงจะสมกับเป็น “นักดับเพลิงมืออาชีพ” ไม่ใช่ “อาชีพนักดับเพลิง”
อมรรัตน์ ปชส.สปภ. ถ่ายภาพ//รายงาน