กทม.แนะแนวทางป้องกัน พร้อมเตรียมวัคซีนป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจช่วงปลายฝนต้นหนาว
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนให้ระมัดระวังตนเองจากโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงปลายฤดูฝนว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติในการระมัดระวังโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 รวมถึงโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ และสื่อออนไลน์ ซึ่งโรคดังกล่าวติดต่อได้หลายช่องทาง ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วย การไอ จาม หรือหายใจรดกัน รวมทั้งการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม และของเล่นเด็ก เป็นต้น โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว คือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ มีโอกาสป่วยเช่นกันหากพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ การป้องกันโรค ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 หรือโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว สิ่งที่จะต้องปฏิบัติร่วมด้วยเสมอ คือ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการรับเชื้อและการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ควรแยกห้องนอนออกจากผู้อื่นหากมีอาการผิดปกติ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ขณะที่มีอาการไอ หรือจามให้ใช้ผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูก จากนั้นทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดทันที ผู้มีอาการไข้ หรือไอ ควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ไปในที่ชุมชน เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงปลายฤดูฝน อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูฝน ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ และเพจเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้พัฒนา “คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่” ใน รพ.สังกัด กทม.ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการเป็นประจำฤดูกาล ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด 19 โรคคอตีบ (dT) บาดทะยัก โรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นต้น เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดความเจ็บป่วยและลดโรคให้ประชาชน รวมทั้งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเปิดให้บริการในแผนกอายุรกรรม ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงวัคซีนตามสิทธิประโยชน์ของตนเอง
กทม.เตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัย ตรวจสอบระบบกล้อง CCTV สนับสนุนการจัดประชุม APEC 2022
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้นำทุกชาติที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) 2022 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ ได้เตรียมความพร้อมสนับสนุนการจัดประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. รวมทั้งยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก กทม. เพื่อดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบบริเวณสถานที่จัดการประชุม สถานที่พำนักของผู้นำทุกชาติที่เข้าร่วมประชุม และสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดูแลความเรียบร้อยในเส้นทางจากสถานที่พำนักไปยังสถานที่จัดการประชุมทุกวันตลอดการประชุมฯ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่ง ได้เตรียมความพร้อมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) โดยเฉพาะบริเวณสถานที่จัดประชุม ที่พักของผู้นำ และเส้นทางเดินทางจากสนามบินไปยังสถานที่จัดประชุมฯ และสถานที่พัก รวมทั้งตรวจสอบระบบกล้อง CCTV อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมระบบกล้อง CCTV ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม หรือการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชน เพื่อป้องกันเหตุ ส่วนการเชื่อมโยงระบบกล้อง CCTV ไปยังหน่วยงานร่วม ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานร่วมด้านการรักษาความปลอดภัย
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กล่าวว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม รวมทั้งร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เพื่อสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีต้อนรับผู้นำต่างชาติและคณะที่เข้าร่วมการประชุม APEC ในเดือน พ.ย.นี้
กทม.พร้อมช่วยเหลือชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา – เร่งก่อสร้างปรับปรุงแนวเขื่อนในเขตบางพลัด-บางกอกน้อย
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจตรวจสอบและเร่งรัดให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่เขตบางพลัดและเขตบางกอกน้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำหนุนไหลเข้าท่วมบ้านเรือนว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ดำเนินการตามแผนการก่อสร้าง ซ่อมแซม และปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ความยาว 2,290 กิโลเมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรจุดฟันหลอบริเวณหน้าสำนักงานเขตบางกอกน้อย และปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณที่ประสบปัญหาน้ำรั่วซึม 2 แห่ง คือ บริเวณชุมชนบ้านบุและช่วงคลองบางบำหรุ – คลองพริกป่น ความยาวรวม 730 เมตร นอกจากนี้ ยังมีแผนงานที่จะก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรเพิ่มเติมในจุดฟันหลอบริเวณศูนย์สุขภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความยาว 160 เมตร รวมทั้งในอนาคตมีแผนงานปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณที่ประสบปัญหาน้ำรั่วซึมอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย (1) ช่วงคลองวัดสุวรรณคีรี-คลองเพรสซิเดนท์คอนโด (2) ช่วงคลองข้างพาณิชยการ จรัญสนิทวงศ์-คลองผักหนาม (3) ช่วงคลองมะนาว-คลองข้างพาณิชยการจรัญสนิทวงศ์ (4) ช่วงสะพานจรัญสนิทวงศ์-คลองมะนาว และ (5) ช่วงปากคลองชักพระ-ถนนบางขุนนนท์ รวมความยาว 1,260 เมตร
ส่วนแผนการก่อสร้าง ซ่อมแซม และปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมเขตบางพลัด ความยาวรวม 1,410 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรบริเวณจุดฟันหลอ 2 แห่ง คือ สะพานพระราม 6 – วัดวิมุตยาราม และบริเวณร้านอาหารขนาบน้ำ – ร้านอาหารริเวอร์บาร์ ความยาว 175 เมตร และปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณที่ประสบปัญหาน้ำรั่วซึม 2 แห่ง คือ ช่วงคลองเตาอิฐ – คลองบางรัก และช่วงคลองบางพลัด – คลองบางพระครู ความยาวรวม 420 เมตร มีแผนงานที่จะก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรเพิ่มเติมบริเวณจุดฟันหลอ 3 แห่ง คือ บริเวณคลองสวนแดน ช่วงคลองมอญ – สวนอาหารชายน้ำ และบริเวณปลายซอยจรัญสนิทวงศ์ 82 ความยาวรวม 335 เมตร และในอนาคตมีแผนงานที่จะปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณชุมชนวัดเทพนารี ความยาว 480 เมตร
นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตบางพลัด ได้บรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำหนุนไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่เขต โดยจัดทำแผงไม้ป้องกันอาคารไม้ทรุดตัวจากการปะทะของกระแสน้ำ สร้างสะพานไม้และเรียงกระสอบทรายเป็นทางเดินชั่วคราวให้ประชาชนสัญจร ลอกท่อระบายน้ำ ตรวจสอบเส้นทางการระบายน้ำและบังคับทิศทางน้ำให้ไหลเข้าสู่ระบบสูบน้ำของสำนักการระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำและวางรอบการเติมน้ำมันเครื่องสูบน้ำ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเดินเครื่องสูบน้ำตามรอบ และกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงเวลาน้ำหนุน ตลอดจนชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพ ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยากันน้ำกัดเท้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำและเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเขตบางพลัด แชร์ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ไลน์ จัดประชุมชุมชนประจำเดือน และประชาสัมพันธ์ให้ประธานชุมชนในพื้นที่รับทราบและแจ้งคนในชุมชนทราบ
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานเขตบางกอกน้อย ได้จัดเรียงกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม สร้างสะพานไม้และเรียงกระสอบทรายเป็นทางเดินชั่วคราวให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลอกท่อระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อลดระดับน้ำท่วมขัง รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำและเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การกระจายเสียงตามสาย แอปพลิเคชันไลน์ และเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเขตบางกอกน้อย รวมถึงมอบถุงยังชีพ ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยากันน้ำกัดเท้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังได้ซ่อมแซมรอยรั่วเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โดยสำนักการโยธาได้สำรวจและซ่อมแซมเป็นช่วง ๆ เช่น ช่วงตั้งแต่ถนนจรัญสนิทวงศ์ (ใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย-ปากคลองน้ำตาล) ระยะทาง 300 เมตร ขณะนี้ซ่อมแซมใกล้แล้วเสร็จ ส่วนบริเวณปากคลองชักพระ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง