กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังรองรับสถานการณ์น้ำหนุน 27 – 30 ต.ค.นี้
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 27 – 30 ต.ค.นี้ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยา โดยประชุมหารือร่วมกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม จัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่แก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงในช่วงที่มีน้ำขึ้น
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนโดยเฉพาะชุมชนที่มีที่พักอาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เฝ้าระวังและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงปลั๊กไฟ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอต่อการป้องกันน้ำเอ่อล้น จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ทำสะพานทางเดินชั่วคราว ช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมรับทราบการขึ้นลงของน้ำเป็นระยะ ตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่าน กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่าใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนเหล่านี้ ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและขอรับความช่วยเหลือได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย ตามแผน ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร รองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างวันที่ 27 – 30 ต.ค.นี้ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระดับน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555
กทม.แนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม – เกษตรกร ป้องกันและสังเกตอาการโรคเมลิออยด์
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคเมลิออยด์ในสถานพยาบาลของ กทม.ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโรคเมลิออยด์ จำนวน 6 คน แบ่งเป็น หญิง 2 คน และชาย 4 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยโรคเมลิออยด์ (Melioidosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย พบการติดเชื้อได้บ่อยในผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย โรคปอด โรคไต ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ติดต่อได้ทางการรับเชื้อผ่านบาดแผลที่ผิวหนัง การดื่มน้ำ หรือการรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน การสูดหายใจรับฝุ่นละอองที่มีเชื้อปนเปื้อน อาการทั่วไป คือ มีไข้ มีฝีหนองที่ผิวหนัง หรือบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ อาจพบการติดเชื้อในอวัยวะภายในอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ม้าม ไต ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดแบบเฉียบพลันอย่างรุนแรงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเมลิออยด์ที่อยู่ในดินและน้ำเข้าสู่ร่างกาย ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ หากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรรีบทำความสะอาดบาดแผลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการอยู่ที่โล่งแจ้ง หรือลงไร่นาในขณะที่มีพายุฝน หรือสภาพอากาศแปรปรวน
นอกจากนี้ สำนักอนามัย ได้มีมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองและการสังเกตอาการของโรคเมลิออยด์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในกรุงเทพฯ เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคที่อยู่ในดินและน้ำเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนรณรงค์เน้นย้ำกระตุ้นเตือนให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ
กทม.ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจป้องกันภาวะอ้วน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจการป้องกันภาวะอ้วน ซึ่งอาจทำให้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือโรคแทรกซ้อนที่ต้องดูแลรักษาต่อเนื่องว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ประสานความร่วมมือเครือข่ายคนไทยไร้พุงและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการพัฒนาสุขภาพและเสริมสร้างความรู้ทางโภชนาการแก่คนกรุงเทพฯ ให้สามารถเลือกบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย สร้างทัศนคติที่ดีในการใส่ใจสุขภาพ เพื่อก้าวสู่สังคมไร้พุงปลอดโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้ หากมีสภาวะสุขภาพเข้าเกณฑ์ คือ ดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 25 วิธีการคำนวณ โดยใช้น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 เช่น 95 หารด้วย 1.75 ยกกำลัง 2 เท่ากับ 31 (ค่าดัชนีมวลกาย BMI) หรือวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน สามารถติดต่อสอบถาม หรือเข้ารับบริการ เพื่อรับคำปรึกษา หรือรักษาได้ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันภาวะอ้วนและแก้ไขปัญหาโรคอ้วนลงพุง ต้นเหตุโรคร้ายทำร้ายสุขภาพ และโรคอื่น ๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด และโรคหัวใจ ในทุกระดับตั้งแต่ปฐมภูมิ มุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านสุขภาพป้องกันคนแข็งแรงดีไม่ให้ป่วยเป็นโรคอ้วน โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและปัจจัยเสี่ยงจากภาวะน้ำหนักเกิน จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการสร้างแรงจูงใจเสริมพลังและฝึกทักษะ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับทุติยภูมิ ดูแลรักษาคนที่เป็นโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) และระดับตติยภูมิ ในการรักษาพยาบาลป้องกันผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนไม่ให้เกิดภาวะทุพพลภาพ พิการ หรือเสียชีวิต โดยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแพทย์ในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทาง ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ศัลยกรรมโรคอ้วน โรงพยาบาลกลาง ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก โรงพยาบาลตากสิน ศูนย์สมองและหลอดเลือด โรงพยาบาลตากสิน ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกลาง ศูนย์ส่องกล้องและผ่าตัดผ่านกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลกลาง เพื่อให้บริการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดี