ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เตรียมพร้อมให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งกำชับศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันและดูแลตนเองจากภัย หรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมจัดกิจกรรมให้ความรู้การป้องกันและดูแลตนเองจากภัย หรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แก่เด็กนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมศึกษา และแนะนำให้ติดตามรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จากเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน air4thai รวมทั้งเฝ้าระวังติดตามกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์
ส่วนในสถานการณ์ที่มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานมากกว่า 50 – 75 มคก./ลบ.ม. บุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และเฝ้าระวังแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตามรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับ 76 มคก./ลบ.ม. เป็นเวลา 3 วันขึ้นไป จะจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง รวมถึงออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน
กทม.เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ พร้อมติดตามสถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์ XBB ใกล้ชิด
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมยกระดับแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินและด้านการแพทย์สาธารณสุข กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ XBB ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 เพื่อรับมือและเฝ้าระวังการระบาดจากสายพันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะพบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมศักยภาพเตียงในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรงและทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้เปิดบริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ใน 11 โรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. เพื่อบริการวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนที่จำเป็นอื่นให้ประชาชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ Bangkok Fast & Clear Center (BFC) ทั้ง 11 รพ.
นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้ทุก รพ.ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกระบบทางเดินหายใจ หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจะเร่งแยกกักตัวเฉพาะโรค เบื้องต้นได้กำหนดให้ รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อติดตามข้อมูลและควบคุมดูแลสถานการณ์โรคโควิด 19 สายพันธุ์ XBB อย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานข้อมูลให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที พร้อมทั้งเน้นย้ำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในช่วงวันหยุดต่อเนื่องทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด รวมถึงสังเกตอาการตนเองหลังจากมีความเสี่ยงและตรวจคัดกรองตนเองด้วยวิธี ATK หากมีผลติดเชื้อ จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งหากอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
กทม.เตรียมพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 66
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2566 ของ กทม.ตามแนวทางที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้เตรียมรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณการระบายน้ำ รวมถึงการประชุมหารือร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ และมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมทั้งเฝ้าระวังการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย กทม.ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ จัดแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และได้เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการ Water Hammer Operation (กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) กับกรมชลประทาน เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มไม่ให้มีผลต่อการผลิตน้ำประปา
สำหรับพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้ประสานกรมชลประทานในการผันน้ำผ่านทางคลองสิบสามผ่านลงคลองแสนแสบเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม รวมถึงการบริหารจัดการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าถ่ายเทพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และนำน้ำเข้าสู่คลองสายหลักสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมกับการถ่ายเทน้ำไม่ให้เกิดการเน่าเสีย นอกจากนี้ยังเก็บกักน้ำเข้ามาตามประตูระบายน้ำที่อยู่ในแนวคันกันน้ำตะวันออกและทำนบกั้นน้ำที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำไว้ให้ประชาชนใช้สำหรับการเกษตร อุปโภค และรักษาระบบนิเวศ ซึ่งทำนบดังกล่าว ประกอบด้วย การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณคลองสิงห์โต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 140,000 ไร่ ปัจจุบันโครงการก่อสร้างทำนบอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเก็บกักน้ำได้ในประมาณปลายเดือน พ.ย.นี้
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้ประสานกรมชลประทานในการนำน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ผันน้ำผ่านคลองทวีวัฒนา ส่วนเรื่องค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดค่าความเค็มอยู่เสมอ ทั้งนี้ ในช่วงจังหวะที่น้ำขึ้น หากค่าความเค็มไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด จะเปิดประตูน้ำตามแนวริมแม่น้ำ เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาถ่ายเทและไหลเวียนน้ำยังคลองต่าง ๆ รวมถึงกระจายน้ำเข้าคลองสายหลักสำหรับช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสียและให้ประชาชนได้มีน้ำไว้ใช้ด้านการเกษตร อุปโภค และรักษาระบบนิเวศ พร้อมกับรักษาระดับน้ำไม่ให้มีผลกระทบต่อการเดินเรือสัญจร
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ด้วยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว สำนักการระบายน้ำได้เดินระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 แห่ง โดยในช่วงปี 2564-2565 สามารถเติมน้ำที่ผ่านการบำบัดลงสู่คลองประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยแบ่งเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาร้อยละ 80 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 เป็นฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังมีนโยบายให้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นการใช้เพื่อการอุปโภคในกิจกรรมต่าง ๆ ตามคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัด อาทิ ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ ล้าง/ทำความสะอาดพื้น เครื่องจักร หรือถนน เป็นต้น ทั้งนี้ จุดจ่ายน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว สามารถมารับน้ำได้ ณ โรงควบคุมคุณภาพน้ำทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา รัตนโกสินทร์ ดินแดง ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อกรุงเทพมหานคร
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. – พ.ค.ของทุกปี ลักษณะสภาพอากาศโดยทั่วไป มีสภาพแห้งแล้ง ทำให้ในหลายเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ รวมทั้งปัญหาไฟไหม้หญ้า ถนนทรุดตัว ปัญหาด้านสาธารณสุข และปัญหาน้ำเค็มเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและสภาวะแวดล้อมโดยรวม ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2565/66 ที่อาจเกิดขึ้น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้งของ กทม.ประจำปี 2566 เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานในสังกัด กทม. ตั้งแต่ระยะเวลาก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นชอบแผนดังกล่าว รวมทั้งได้กำหนดมาตรการป้องกันไฟไหม้หญ้าและกองขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของกรุงเทพฯ เพื่อให้สำนักงานเขตใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงภัยแล้งที่เกิดขึ้น สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งจะเป็นไปตามแนวทางและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติของ กทม. ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เร่งปรับปรุงผิวจราจรถนนราชดำริรองรับการสัญจร เตรียมความพร้อมพื้นที่จัดประชุมเอเปค พ.ย.นี้
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงการปรับปรุงผิวจราจรบริเวณถนนราชดำริ โดยลาดยางใหม่ทั้งที่ถนนมีสภาพดีอยู่แล้วว่า การปรับปรุงผิวจราจรถนนราชดำริ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมพื้นที่โดยรอบสถานที่จัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งจะจัดการประชุมในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม อีกทั้งถนนราชดำริเป็นถนนสายสำคัญที่มีสถานที่ราชการและโรงแรมที่พักจำนวนมาก ประกอบกับผิวจราจรบางช่วงชำรุดและมีระดับต่ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผิวจราจรให้เรียบเสมอกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรให้ประชาชน รวมทั้งผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมฯ นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาล หน่วยงานสาธารณูปโภค การไฟฟ้านครหลวง สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักงานเขตฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการปรับปรุงผิวจราจรในถนนเส้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้