กทม.เตรียมพร้อมเปิดตรวจสอบอัตราภาษีที่ดินฯ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
นางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กล่าวถึงการขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2566 ประจำปี พ.ศ.2566 ออกไปอีก 2 เดือนว่า กรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนฐานข้อมูลและโปรแกรมระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งยังมีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง การบันทึกข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหลายรายมีความยุ่งยากซับซ้อน จำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน จึงขยายกำหนดเวลาดำเนินการดังกล่าวออกไปอีก อย่างไรก็ตาม กทม.ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประจำปี พ.ศ.2566 โดยแจ้งฝ่ายรายได้ทุกสำนักงานเขตให้จัดเก็บภาษีในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดเก็บภาษีผ่านเว็บไซต์ของ กทม.และสำนักการคลัง ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงอัตราการจัดเก็บภาษีฯ โดยสามารถตรวจสอบอัตราภาษีที่ต้องชำระผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันทั้งระบบ iOS และ Android โดยดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Google Play Store ระบบดังกล่าวสามารถพิมพ์ใบแจ้งการประเมินและนำไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย หรือผ่าน Mobile Application โดยสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินผ่านระบบดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หากพบว่า ข้อมูลการประเมินภาษีไม่ถูกต้องสามารถยื่นคำร้องขอแก้ไข พร้อมแนบหลักฐานผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน โดยระบบให้บริการตรวจสอบข้อมูลอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมการเปิดใช้งานระบบ
นอกจากนั้น สนค.ยังได้รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนในการชำระภาษีประเภทต่าง ๆ ที่ กทม.จัดเก็บ โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ตามช่วงเวลาการดำเนินการของภาษี ผ่านเว็บไซต์สำนักการคลัง สำนักงานเขต สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล และสำนักงานประชาสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาษี รวมถึงจัดทำประกาศ กทม.เรื่องการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย การชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี พ.ศ.2566 เพื่อจัดส่งให้ประชาชนรับทราบช่วงเวลาการดำเนินการภาษีในแต่ละประเภท
กทม.เร่งตรวจสอบสาเหตุ – โครงสร้างอาคารก่อสร้างย่านพระราม 9 ทรุดตัว
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุอาคาร 5 ชั้น ใกล้วัดอุทัยธาราม ถนนพระราม 9 ทรุดตัวว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.และสำนักงานเขตห้วยขวาง ได้ประสานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สภาวิศวกร สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบอาคารที่เกิดเหตุ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 7 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง เพื่อหาสาเหตุการทรุดตัวของอาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานเขตห้วยขวาง ได้ออกคำสั่งไปยังผู้แจ้งการก่อสร้างให้ระงับการใช้และให้ตรวจสอบแก้ไขอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งเจ้าของอาคารจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบรับแจ้ง โดยต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) กฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และกฎกระทรวงกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครองอาคารและเจ้าของอาคาร พ.ศ.2561 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้มีมาตรการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ประโยชน์อาคาร
กทม.เตรียมใช้ระบบ e-Permit ยกระดับบริการขออนุญาตก่อสร้างอาคารแบบ One Stop Service
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติมอาคารที่พักอาศัยกับ กทม.ว่า สนย.อยู่ระหว่างนำระบบสารสนเทศในการพิจารณาอนุญาตอาคารมาทดสอบการปฏิบัติงาน (e-Permit) เพื่อให้สามารถติดต่อหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยไม่ต้องส่งเอกสารซ้ำซ้อน สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส ไม่เสียเวลาเดินทางไปติดต่อขออนุญาตการให้บริการจากภาครัฐหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม ยื่นเอกสารผ่านศูนย์รับคำขออนุญาตเพียงจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)
นอกจากนั้น ประชาชนยังสามารถติดตาม (Monitoring/Tracking) การออกใบอนุญาต พร้อมมีระบบแจ้งเตือน (Alert) เพื่อรายงานสถานะการดำเนินการและผลการพิจารณาขอรับใบอนุญาตให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการประชาชนโดยเฉพาะขั้นตอนการอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตอื่น ๆ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น ตลอดจนลดโอกาสการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยราชการ รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่ของ กทม.ให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชันของ กทม.อย่างเคร่งครัด
กทม.เร่งลดระดับน้ำในคลอง ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ – ป้ายโฆษณารองรับสถานการณ์ฝนจากสภาพอากาศแปรปรวน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศแจ้งเตือนสภาพอากาศแปรปรวน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกถึงวันที่ 17 ก.พ.นี้ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันได้สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งตรวจสอบประสิทธิภาพและความพร้อมการใช้งานของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง บ่อสูบน้ำ 329 แห่ง จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซล ชนิดไฟฟ้ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง สำรวจติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามคลองต่าง ๆ จัดเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน (BEST) พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที พร้อมทั้งประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรณีไฟฟ้าดับ หรือเหตุฉุกเฉิน และประสานหน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. เช่น กรมทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ (รฟม.)
นอกจากนั้น ยังได้ประกาศแจ้งเตือนอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบนที่จะมีผลกระทบถึงวันที่ 17 ก.พ.66 ผ่านเว็บไซต์สำนักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และแจ้งสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนการเดินทาง หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังผ่าน http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่สายด่วน 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กล่าวว่า สปภ.ได้แจ้งสำนักงานเขตให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะและถนนสายต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์กรณีเกิดเหตุต้นไม้ฉีกหัก หรือโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชก โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักและพื้นที่ชุมชนที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัญจรและความปลอดภัยของประชาชน ส่วนกรณีต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เอกชนให้ประสานเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เร่งรัดตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งก่อสร้างที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อตรวจสอบซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงตามอำนาจหน้าที่ หากมีเหตุพายุฝนและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ อันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ขอให้ผู้อำนวยการเขต ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายและออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัย ซึ่งเกิดขึ้นจากพายุ ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ตรวจตราบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน พื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า และพื้นที่เขตรอยต่อกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา ป้ายหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พร้อมทั้งประสานเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือปรับปรุงให้มีความมั่นคงและแข็งแรง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต กำชับเจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายที่ถูกกฎหมายแต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอนและดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง