กทม.นำร่องเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในเขตปทุมวัน ลดค่าฝุ่นได้ 13%
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.แก้ไขปัญหาฝุ่นด้วยแนวคิด (Low Emission Zone) ว่า กรุงเทพมหานคร ได้นำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เขตปทุมวันเมื่อปี 2564 – 2565 เป็นเขตนำร่องจัดทำโครงการ “อากาศสะอาดเขตปทุมวัน” โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมควบคุมมลพิษ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ ตรวจสภาพรถที่อาจปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA – BLEZ) เพื่อรายงานผลการตรวจสภาพรถของผู้ที่ใช้รถในพื้นที่เขตปทุมวัน รวมถึงการจัดบริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการ และจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ และการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่น PM2.5 เฉพาะจุดที่สามารถแสดงผลทันที เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ทราบค่าคุณภาพอากาศผ่านจอแสดงผลขนาด 50 นิ้ว จากการประเมินผลโครงการฯ พบว่า ฝุ่น PM2.5 ลดลงประมาณร้อยละ 13 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือจากทุกภาคส่วนและอาจขยายผลไปยังเขตอื่น ๆ โดยนำเขตปทุมวันเป็นต้นแบบ
ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้กำหนดมาตรการเชิงรุกตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิด ได้แก่ การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง และการเฝ้าระวังแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน
นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมควบคุมมลพิษ เข้มงวดการตรวจวัดรถควันดำทุกวันและขยายพื้นที่ตรวจวัดครอบคลุมถนนสายหลักรอบนอกทั่วกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมรถยนต์ควันดำเข้าพื้นที่เขตชั้นใน รวมทั้งกำชับให้รถราชการในสังกัด กทม.หมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ และตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง/ปี เพื่อลดมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ เลือกเติมน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ ไม่จอดรถกีดขวางทางจราจร งดการเผาในที่โล่ง เป็นต้น
กทม.กำชับมาตรการด้านสุขอนามัยตลาดในสังกัดทั้ง 12 แห่ง
นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาด กทม. กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดกำชับผู้ค้าในตลาดปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัย ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู หรือสัตว์นำโรคอื่น ๆ ว่าสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือของผู้ค้าและผู้ช่วยค้าในตลาดที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม.ทั้ง 12 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดนัดจตุจักร ตลาดนัดมีนบุรี ตลาดธนบุรี ตลาดประชานิเวศน์ 1 ตลาดเทวราช ตลาดบางกะปิ ตลาดหนองจอก ตลาดพระครื่องวงเวียนเล็ก ตลาดสิงหา ตลาดรัชดา ตลาดบางแคภิรมย์ และตลาดราษฎร์บูรณะ ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขลักษณะทั่วไปและด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยจัดอัตรากำลังพนักงานทำความสะอาดแต่ละแห่งให้มีความเหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ เก็บกวาดทำความสะอาดวันละ 2 รอบ รอบเช้า เวลา 07.00 – 11.00 น. รอบบ่าย เวลา 13.00 – 16.00 น. และเก็บขยะทุกวันไม่ให้มีตกค้าง ล้างทำความสะอาดพื้นตลาดสดไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และล้างใหญ่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ขณะเดียวกันให้ทำความสะอาดคราบสกปรกและกวาดหยักไย่ภายในตลาดสดไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตักขยะและลอกท่อในรางระบายน้ำรอบตลาดไม่น้อยกว่า สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตักไขมันและเศษอาหารจากบ่อพักอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กำจัดหนูและแมลงสาบภายในตลาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมทั้งควบคุมป้องกันไม่ให้แมว หรือสุนัขเข้ามาภายในตลาดสด ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ประจำตลาดทุกแห่งให้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์รักษาความสะอาดในโอกาสต่าง ๆ ร่วมกับสำนักงานเขตที่ตลาดตั้งอยู่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เพื่อขอความร่วมมือผู้ค้าในตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะการทิ้งขยะ เศษอาหารอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู แมลงสาบ และสัตว์นำโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ สำนักอนามัยยังได้จัดส่งยาเบื่อหนูให้ตลาด เพื่อนำมาวางใต้แผงค้าอาหารสดเป็นประจำทุกสัปดาห์อีกด้วย
กทม.เข้มงวดจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าด้านนอกตลาดนัดจตุจักร
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการตั้งวางแผงค้าบนทางเท้าและรถเข็นที่ขายบนผิวจราจรบริเวณริมรั้วด้านนอกตลาดนัดจตุจักร ทำให้ประชาชนสัญจรไม่สะดวกว่า สำนักงานเขตจตุจักร ได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจเทศกิจตรวจตรา กวดขัน จัดระเบียบผู้ค้าบริเวณถนนกำแพงเพชร 3 และสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต บริเวณถนนพหลโยธิน โดยประชาสัมพันธ์ผลักดันผู้ค้ารถเข็นบริเวณผิวการจราจรและเปรียบเทียบ จำนวน 4 ราย พร้อมทั้งห้ามไม่ให้จำหน่ายสินค้าบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ค้าบริเวณทางเท้าถนนพหลโยธิน ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา กวดขัน จัดระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรบนทางเท้าได้สะดวกและห้ามไม่ให้ผู้ค้าทำการค้าบริเวณดังกล่าว รวมถึงจัดหาสถานที่รองรับ (Hawker Center) บริเวณหอนาฬิกาภายในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอผู้บริหาร กทม.พิจารณา
นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาด กทม. กล่าวถึงแนวทางการจัดระเบียบร้านค้าภายในตลาดนัดจตุจักรว่า ภายในตลาดนัดจตุจักร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 68 ไร่ มีแผงค้า รวม 10,334 แผงค้า มีซอยทางตรง 61 ซอย และซอยทางขนาน 10 ซอย ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชม ซื้อสินค้าในวันเสาร์ – อาทิตย์ ประมาณวันละ 150,000 คน ส่งผลให้บริเวณด้านในแผงค้าและตามซอยต่าง ๆ มีความแออัด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผู้ค้าบรรจุสิ่งของ เพื่อนำส่งลูกค้า รวมทั้งอาจเกิดจากการตั้งวางสินค้าเกินแนวเขตแผงค้าที่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม สำนักงานตลาด กทม.ได้เข้มงวดกวดขันให้ผู้ค้าปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป
กทม.ประกาศห้ามใช้อาคารทรุดตัวย่านพระราม 9 จัดทำแผนตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุอาคาร 5 ชั้น ใกล้กับ Show D.C. ใกล้วัดอุทัยธาราม ถนนพระราม 9 ทรุดตัวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตห้วยขวาง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการร่วมบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน จากการตรวจสอบ อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 7 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง มีสภาพ หรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน อาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ กระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงมีคำสั่งปิดประกาศและกั้นบริเวณห้ามใช้ทันทีทุกอาคารที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ห้ามมิให้ใช้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้อาคารบริเวณพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ก่อให้เกิดภยันตรายไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไข หากฝ่าฝืนมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละ 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน พร้อมทั้งสั่งให้เจ้าของอาคารบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าของอาคารได้รับคำสั่งนี้ หากพ้นกำหนดแล้วจะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยทำเป็นหนังสือและยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย
สำหรับมาตรการควบคุม ตรวจสอบ และดูแลความปลอดภัยอาคารประเภทต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ประโยชน์อาคาร สำนักงานเขตฯ จะได้จัดทำแผนตรวจสอบอาคาร ตามมาตรา 32 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ร่วมกับสำนักการโยธา กทม.ต่อไป