รร.กทม. 437 แห่ง ขับเคลื่อน 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้าให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานครได้ขับเคลื่อนการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ปี 2566 – 2570 โดยยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ กำหนดให้สถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกแห่ง สอดแทรกความรู้เรื่องโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ในการเรียนการสอน รวมถึงให้สถานศึกษาในสังกัด กทม.ดำเนินมาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ประกอบด้วย การกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการภายใน และการจัดสภาพแวดล้อม สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการขับเคลื่อนสถานศึกษาปลอดบุหรี่ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ และการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยสถานศึกษาทุกแห่งจะต้องมีฐานข้อมูลการคัดกรองการสูบบุหรี่ของนักเรียน จัดสภาพแวดล้อมเป็นเขตปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ตามกฎหมาย และได้รับการตรวจประเมิน ดำเนินกิจกรรมบ้านปลอดบุหรี่ในกลุ่มนักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีครูและนักเรียนแกนนำป้องกันนักสูบหน้าใหม่ พร้อมทั้งรายงานการเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบและการฝ่าฝืนกฎหมายรอบสถานศึกษาในรายงานของสำนักงานเขต ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 88 สถานี ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า โดยจัดสายตรวจบังคับการในชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมประกวดหนังสั้นและสปอตป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมแสดงออกทางความคิดในการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก รวมถึงจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขต 50 เขต ดำเนินกิจกรรมป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในสถานศึกษาต่อเนื่องทุกปี
กทม.เดินหน้า “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” พร้อมดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในพื้นที่
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” และแนวทางการบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ทั้งที่ปลูกในพื้นที่ของ กทม.และพื้นที่เอกชนว่า โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น เป็นโครงการที่ สสล.ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป กำหนดเป้าหมายและแผนการปลูกฯ ภายในปี 2566 – 2568 จำนวน 1 ล้านต้น เป้าหมายการปลูกปี 2565 จำนวน 171,000 ต้น ปี 2566 จำนวน 273,000 ต้น ปี 2567 จำนวน 278,000 ต้น และปี 2568 จำนวน 278,000 ต้น ขณะนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 266,411 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้เลื้อย ตามความเหมาะสมของสภาพแต่ละพื้นที่ การร่วมกันปลูกต้นไม้ตามโครงการดังกล่าวได้จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโตในพื้นที่ของ กทม. หรือหากเป็นพื้นที่เอกชนสามารถสอบถามวิธีการดูแลบำรุงรักษาได้จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตในพื้นที่นั้น ๆ
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำคู่มือการปลูกต้นไม้ล้านต้นฉบับประชาชน โดยมีรายละเอียดวิธีการปลูก การดูแล บำรุงรักษา รวมถึงการคัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม โดยได้ประชาสัมพันธ์ พร้อมแจ้งสำนักงานเขตร่วมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร www.pr-bangkok.com และเว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร www.bangkok.go.th/environmentbma หรือดาวน์โหลดจาก https://drive.google.com /file/d/1_elybzJHfgON6P_2QmltraZpDlsAlQjp/view
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการปลูกต้นไม้ในโครงการ “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” บริเวณชุมชนบ่อฝรั่ง เขตจตุจักร ขาดการบำรุงรักษา ส่งผลให้ต้นไม้มีสภาพแคระแกร็นและบางต้นตายว่า การปลูกต้นไม้บริเวณชุมชนบ่อฝรั่ง เป็นความร่วมมือระหว่าง กทม.กับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ซึ่งได้จัดกิจกรรม “เอสซีจี ปลูกแสนต้นให้คน กทม.” เมื่อวันที่ 9 ส.ค.65 โดยที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ SCG ซึ่งยังไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะ สำนักงานเขตฯ จึงไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ประสาน SCG เข้าไปดูแลและปลูกต้นไม้ทดแทน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป
กทม.จัดระบบเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ แนะดูแลสุขอนามัย กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งข้อสังเกตมักพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงในช่วงต้นปี ม.ค. – มี.ค.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจประเมินสถานพยาบาลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม Bangkok Green & Clean Hospital Plus (BKKGC+) โดยผ่านเกณฑ์การประเมินด้านสถานที่ประกอบอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 พร้อมควบคุมการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เฝ้าระวัง รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย
ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยสิ่งปนเปื้อนที่เป็นสาเหตุมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้ง คือ เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส โดยส่วนใหญ่มักเกิดในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน และมีอาการอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารริมทางในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถานเลี้ยงเด็ก ค่ายกิจกรรม โดยรายการอาหาร หรือเมนูอาหารที่มีความเสี่ยงและทำให้ผู้บริโภคเป็นโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มใหญ่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ น้ำ น้ำแข็ง ที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อ ข้าวมันไก่ ไข่พะโล้ อาหารทะเลดิบ หรือปรุงไม่สุกพอ อาหารประเภทยำ อาหารที่มีกะทิ ข้าวผัด ส้มตำ ขนมจีนน้ำยา เนื่องจากอาหารในเมนูดังกล่าวมักปรุงไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มบูด เมื่อนำมาแจกจ่าย หรือรับประทาน จึงเป็นสาเหตุของโรค การดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากเกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือเป็นมูกเลือด 1 ครั้ง/วัน ปวดท้องบิด คลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูงอาจมีหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีผื่นขึ้น หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากมีอาการอุจจาระร่วงรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรรีบนำส่งตัวไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยลดอาหารเป็นพิษได้
กทม.กำชับผู้รับเหมาก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยต้นสน เข้มงวดมาตรการความปลอดภัย
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุเครนก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมล้มทับใส่ตัวอาคารข้างเคียงว่า สนย.ได้ประสานสำนักงานเขตปทุมวันและเจ้าของโครงการ ตรวจสอบพบว่า อาคารที่เกิดเหตุสูง 29 ชั้น เป็นอาคารอยู่อาศัยรวม (80 ห้อง) ในซอยต้นสน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างงานตกแต่งอาคาร โครงการจึงได้รื้อถอนปั้นจั่น (เครน) ออก แต่ขณะที่รื้อย้ายเกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนของเครนยาวประมาณ 20 เมตร ร่วงหล่นลงมาค้างที่ชั้น 4 ของอาคารที่ก่อสร้าง ส่วนปลายอีกข้างค้างอยู่ที่โครงสร้างชั้น 3 ของอาคารโรงแรมบลิสตัน สุวรรณ พาร์ควิว ที่อยู่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นอีก สนย.ได้แจ้งให้สำนักงานเขตฯ กำชับผู้ได้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยเคร่งครัด รวมทั้งตรวจสอบการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ และให้ทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์เครนทุกครั้ง โดยให้รายงานผลดำเนินการทุกเดือน จนกว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จ