– ปี 66 กทม.เร่งแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน – กำชับหน่วยงานสาธารณูปโภคเข้มงวดตรวจสอบงานก่อสร้าง
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการกวดขันวินัยจราจร และการแก้ไขปรับปรุงด้วยหลักวิศวกรรมจราจร ผ่านการดำเนินการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.กทม.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับเขต (ศปถ.เขต) โดย สจส.ได้พิจารณาข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ThaiRSC) ศูนย์ข้อมูลอัฉริยะไทย (iTIC) ศูนย์เอราวัณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue แล้วนำข้อมูลมาจัดลำดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขจุดเสี่ยงบริเวณต่าง ๆ โดยในปี 2566 สจส.มีเป้าหมายการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงไม่น้อยกว่า 115 จุด เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปสร้างนวัตกรรมความปลอดภัยและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้จุดเสี่ยง เพื่อระมัดระวังในการขับขี่ต่อไป
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) เป็นประจำ ขณะเดียวกันได้กำชับผู้รับจ้างและผู้ควบคุมงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ผิวจราจรที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.ให้เข้มงวดตรวจสอบงานก่อสร้าง โดยทุกโครงการจะต้องจัดให้มีไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่และบริเวณโดยรอบให้เพียงพอ รวมถึงติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน กั้นรั้วแนวเขตก่อสร้างให้มิดชิด ติดตั้งป้าย – เครื่องหมายจราจรให้ชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังได้มีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างทุกโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันของประชาชน พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ควบคุมงานกำกับติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ ทั้งนี้ ได้กำชับผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างทุกโครงการให้ตรวจสอบโดยละเอียด หากพบปัญหาให้เร่งแก้ไขทันที เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
– กทม.เน้นย้ำหน่วยงานในสังกัดบำรุงรักษารถราชการ – ตรวจวัดควันดำสม่ำเสมอ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงแนวทางลดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลของหน่วยงานในสังกัด กทม.เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานครได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถราชการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง/ปี พร้อมรายงานผลการตรวจวัด เพื่อช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกันได้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ เลือกเติมน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ ไม่จอดรถกีดขวางทางจราจร งดการเผาในที่โล่ง เป็นต้น ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง หรือรถยนต์ปล่อยควันดำสามารถแจ้งเบาะแสผ่าน Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป
– กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในสถานพยาบาลสังกัด กทม.ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ เดือน ม.ค.66 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ.66) พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 5,447 ราย อัตราป่วย 9.9 ต่อประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิต 1 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 0 – 4 ปี (ร้อยละ 15.2) 5 – 9 ปี (ร้อยละ 12.6) และ 25 – 29 ปี (ร้อยละ 11.2) รายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษส่วนมากเกิดขึ้นในโรงเรียนเด็กเล็ก – ชั้นประถมศึกษา จำนวน 17 – 58 คน/สถานศึกษา และคาดว่า จะมีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมักพบจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงต้นปี ระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค. ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันเกือบทุกปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้ง กระหายน้ำ และอาจมีไข้ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารและน้ำร่วมกัน การช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ ORS บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หัวใจเต้นเร็วตัวเย็น ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
ทั้งนี้ สนอ.มีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ การรณรงค์ส่งเสริมและให้ความรู้คำแนะนำวิธีดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย รวมทั้งการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ อาทิ การเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ การล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง เลือกบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาด มีเครื่องหมายสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแจ้งสำนักงานเขตให้เฝ้าระวังการเกิดเหตุการณ์อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงในโรงเรียน พร้อมเน้นย้ำให้สถานศึกษาเคร่งครัดสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ใช้วัตถุดิบในการประกอบปรุงอาหารที่สดใหม่ ผู้ประกอบอาหาร หรือปรุงอาหารหากมีอาการท้องเสียให้งดประกอบอาหาร รวมทั้งให้โรงเรียนประเมินการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน (โรงอาหาร) ให้ได้มาตรฐานของโรงเรียน
– กทม.เดินหน้าสถานศึกษาปลอดสิ่งเสพติด ตรวจสอบการจำหน่ายบุหรี่ – บุหรี่ไฟฟ้ารอบ รร.และที่สาธารณะ
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการเข้มงวดกวดขันตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรงเรียน หรือสถานศึกษาเป็นสถานที่สาธารณะต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนศ.ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด กทม. อาทิ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเขต โรงเรียนในสังกัด กทม. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ชมรมเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจบุหรี่ ภายใต้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สำนักงาน ป.ป.ส.กระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสรรพสามิต สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมแพทยสภาแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
ขณะเดียวกันได้กำหนดให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 โรงเรียน มีนโยบายแสดงเจตนารมณ์เป็นโรงเรียนปลอดยาเสพติด แอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัด กทม. รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้นักเรียน ประกอบด้วย โครงการครูตำรวจ (ครู D.A.R.E.) ให้การศึกษาต่อต้านการใช้ยาเสพติด บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 ในโรงเรียนสังกัด กทม. โครงการโรงเรียนกรุงเทพมหานครปลอดยาเสพติด โดยมีครูแกนนำและนักเรียนแกนนำดำเนินกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการสถานศึกษาปลอดยาเสพติด รวมทั้งบูรณาการความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้ากับการเรียนการสอน และโครงการ To Be Number One ที่นำมาบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนตระหนักรู้เกี่ยวกับการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมให้โรงเรียนได้ขับเคลื่อนงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสิ่งเสพติดอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัดทุกโรงเรียนต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจตราบุคคลที่ผ่านเข้า-ออกในแต่ละวัน และขอให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยในช่วงเวลาเช้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน รวมถึงตรวจสอบการวางจำหน่ายบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโดยรอบสถานศึกษาและในสถานที่สาธารณะ ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีตำรวจในพื้นที่ และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อคุ้มครองนักเรียนในโรงเรียนและประชาชนรอบโรงเรียนไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า