– กทม.รุกมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อรองรับสถานการณ์ ตามที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ประเมินฝุ่นละออง PM2.5 อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องถึงต้นเดือน มี.ค.66 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น เข้มงวดตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทุกประเภท ขอความร่วมมือผู้ประกอบการก่อสร้างทุกประเภทงดกิจกรรมการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่น ประสานสถานีตำรวจท้องที่กวดขันวินัยจราจร อำนวยการจราจรให้คล่องตัว เข้มงวดตรวจตรา ในพื้นที่ป้องกันการเผาในที่โล่ง เผาหญ้า ขยะ เศษวัสดุเหลือใช้ เพิ่มความถี่การล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้ ใบไม้ เพื่อดักจับฝุ่น ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ขับช่วยดับเครื่อง ขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่พิจารณาวางแผนให้พนักงานทำงานระยะไกล และประชาชนทำงานที่บ้าน (Work form Home) หรือเดินทางด้วยรถสาธารณะ ส่วนในโรงเรียนสังกัด กทม.ได้ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากพบนักเรียนมีอาการ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบปรึกษาแพทย์
ขณะเดียวกันได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com www.pr-bangkok.com และเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการวางแผนการทำงาน การเดินทาง และการทำกิจกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และวางแผนก่อนออกจากบ้าน นอกจากนี้ กทม.ยังได้ร่วมมือกับ LINE ประเทศไทย เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนประชาชน เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีค่าเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จำนวน 10 เขต หรือค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 1 เขต บน LINE ALERT โดยสามารถเพิ่มเพื่อน LINE ALERT ด้วยการค้นหาไอดี @linealert ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง หรือรถยนต์ปล่อยควันดำสามารถแจ้งเบาะแสผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ.มีแนวทางจัดเตรียมบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 โดยร่วมกับสำนักงานเขตตรวจสอบ กำชับ และเพิ่มความเข้มงวดสถานประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น แพลนท์ปูน กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ ประดิษฐ์หินของใช้ ผลิต สะสมธูป และกิจการที่มีหม้อไอน้ำ เป็นต้น เพื่อควบคุมไม่ให้สถานประกอบกิจการปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบมลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพ เพื่อควบคุมและกำกับให้เผาศพอย่างถูกวิธี รวมทั้งรณรงค์การจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมบริเวณศาลเจ้าและลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้น ยังได้จัดหาหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ.66 ได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 1,200,000 ชิ้น โดยกระจายผ่านสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยภูมิแพ้ต่อฝุ่น และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสฝุ่น PM2.5 เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน คนงานกวาดถนน เป็นต้น รวมทั้งได้สั่งการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 ศูนย์ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อแจกหน้ากากอนามัย พร้อมให้คำแนะนำประชาชนและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสฝุ่น PM2.5 ให้ดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพ รวมถึงแนะนำแนวทางและวิธีป้องกันตนเอง เพื่อป้องกันโรค หรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาลและโรงเรียน เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้ (1) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. (2) โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.06 3324 1126 และ 09 9170 5879 และ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.0 2429 3576 ต่อ 8522
– กทม.กำชับทุก รร.ในสังกัดปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยและยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ
นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ปกครองนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสังกัด กทม.ในพื้นที่เขตบางคอแหลม ร้องทุกข์บุตรชายถูกทำร้ายร่างกายโดยอ้างครูพละเป็นผู้สั่งว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบกรณีเด็กนักเรียนชกต่อยกันหลังชั่วโมงเรียนวิชาพละศึกษา แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า เหตุเกิดจากการสั่งการของครูพละ ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย สำนักงานเขตฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนเด็กนักเรียนเนื่องจากเป็นช่วงเวลาใกล้สอบ สำนักงานเขตฯ จึงได้แจ้งให้โรงเรียนประสานผู้ปกครองให้นำนักเรียนกลับมาเรียนในชั้นเรียน และเมื่อนักเรียนกลับเข้าสู่ชั้นเรียนแล้ว ได้กำชับให้เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทบกระทั่งทั้งทางกาย หรือวาจา เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกสบายใจและปลอดภัย นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้กำชับให้ทุกโรงเรียนในสังกัดในพื้นที่เขตปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียน รวมทั้งแนวทางการป้องกันและจัดการความรุนแรงภายในโรงเรียนโดยเคร่งครัด
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า กทม.ได้มีประกาศเรื่องการส่งเสริมสิทธิเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม.เมื่อวันที่ 15 ก.ย.65 กำหนดให้มีมาตรการสร้างความปลอดภัยและยุติความรุนแรงทุกรูปแบบในโรงเรียนโดยเฉพาะการล่วงละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ การป้องกันแก้ไขเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกและล่วงละเมิดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ การกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้วินัยเชิงบวกในโรงเรียนและลดการลงโทษที่รุนแรง ตลอดจนกำหนดมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด กทม.ให้มีระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี มีโครงการป้องกันยาเสพติดและพฤติกรรมข่มขู่ รังแกนักเรียน รวมทั้งได้กำชับและกระตุ้นเตือนเป็นระยะ ผ่านการประชุมหัวหน้าฝ่ายการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา
– เขตลาดพร้าวปรับปรุง – ทำความสะอาดทางเท้าปากซอยนาคนิวาส 22
นางสุภาพร ศรีศาสนวงศ์ ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว กทม. กล่าวกรณีมีการโพสต์คลิปหนูในท่อระบายน้ำขึ้นมาบนทางเท้าบริเวณปากซอยนาคนิวาส 22 เขตลาดพร้าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบทางเท้าระหว่างซอยนาคนิวาส 20 – 22 ซึ่งเป็นจุดที่รอการเก็บขนขยะในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 18.00 น. ทำให้เป็นแหล่งสะสมของขยะและเศษอาหารที่ประชาชนนำใส่ถุงไปทิ้งไว้ โดยบริเวณโคนต้นไม้บนทางเท้ามีโพรงเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำ คาดว่าน่าจะเป็นช่องทางเข้า – ออกของหนูในการออกมาหาเศษอาหาร เบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้ปรับปรุงทำความสะอาดโคนต้นไม้บริเวณดังกล่าว เพื่อกำจัดช่องทางเข้า – ออกและแหล่งพักอาศัยของหนู รวมทั้งล้างทำความสะอาดพื้นที่บริเวณปากซอยและทางเท้า โดยนำถังรองรับขยะมีฝาปิดมาตั้ง เพื่อป้องกันการกัดเจาะถุงขยะที่ประชาชนนำมาทิ้งไว้และใช้กาวดักหนูวางในพุ่มไม้บริเวณโคนต้นไม้ พร้อมกันนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารบริเวณดังกล่าวปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งคัด และให้เจ้าหน้าที่ตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างสม่ำเสมอ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ.ได้ประสานขอความร่วมมือเจ้าของตลาดและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคในตลาดสด ตลาดนัด และตลาดที่อยู่ในความดูแลของ กทม.อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้ตลาดทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะการจัดการขยะมูลฝอย การทำความสะอาดพื้นที่ และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในตลาดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตจัดกิจกรรมการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารในตลาด โดยพัฒนาตลาดประเภทที่ 1 สู่ตลาด Premium Market เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งในด้านสุขลักษณะ ด้านคุณภาพอาหาร ด้านผู้สัมผัสอาหารและด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล 50 สำนักงานเขต และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดกิจกรรมตลาดตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการตลาดล้างตลาดและบริเวณพื้นที่โดยรอบตามหลักสุขาภิบาล โดยให้คำแนะนำด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่เจ้าของตลาด ผู้ขายของ และผู้ช่วยขายของในตลาด พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ล้างทำความสะอาดตลาดเป็นประจำทุกวันและล้างตลาดตามหลักการสุขาภิบาลอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
– กทม.สำรวจจุดเสี่ยงเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ จัดอบรมดับเพลิง – ฝึกซ้อมหนีไฟใน 240 ชุมชน
นายสุเมธ อมรศรีวรากุล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา กทม. กล่าวกรณีประชาชนในพื้นที่แสดงความกังวลกรณีเกิดไฟไหม้บ่อยครั้งในช่วงเวลาใกล้กันว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้บริเวณซอยนนทรี 7 แขวงช่องนนทรี พบว่า สาเหตุเพลิงไหม้อยู่ระหว่างการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางโพงพาง โดยสถานีดับเพลิงพื้นที่ได้เข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ได้ทันที ทำให้เพลิงสงบก่อนที่จะลุกลามไปยังอาคารข้างเคียง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงอากาศหนาว สภาพอากาศจะแห้งแล้ง มีความชื้นต่ำ และมีลมกระโชกแรง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบถังดับเพลิงและประปาหัวแดงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับ อปพร.เขตยานนาวา และผู้นำชุมชน สำรวจพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ พร้อมทั้งจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตยานนาวา ประกาศแผนป้องกันอัคคีภัยฯ และจัดอบรมให้ความรู้คำแนะนำประชาชนในการตรวจตราเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลดวงจรต่อไป
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่เขตยานนาวามีสถิติเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในปี 2563 จำนวน 6 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 5 ครั้ง ปี 2565 จำนวน 2 ครั้ง และปี 2566 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ปัจจุบัน จำนวน 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายการบริหารจัดการเหตุอัคคีภัย หรือเหตุสาธารณภัยต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ได้แก่ การจัดหายานพาหนะเพื่อดับเพลิงในที่แคบ เพิ่มประปาหัวแดง โดยเฉพาะเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น การจัดหาถังดับเพลิง เพื่อนำมาติดตั้งให้ชุมชนแออัดเพิ่มเติม การซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ ดังนั้นในปี 2566 สปภ.มีโครงการ ฝึกอบรมการดับเพลิงเบื้องต้นและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟตามแผนเผชิญเหตุฯ ให้ชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 240 ชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้มีน้อยที่สุด
นอกจากนั้น สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งยังได้สำรวจตรวจสอบถังดับเพลิงภายในชุมชน รวมทั้งประปาหัวแดงในพื้นที่รับผิดชอบให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องความปลอดภัยจากอัคคีภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน การเปลี่ยนสายไฟเก่าที่ใช้งานมานาน การใช้ก๊าซหุงต้มอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง