สุกรี เจริญสุข
วงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Orchestra) ชื่อย่อบีเอ็มโอ (BMO) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2563 ตามนโยบายผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ตุลาคม 2559 ถึงมีนาคม 2565
วงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร ดูแลโดยกลุ่มงานดุริยางค์ซิมโฟนี กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และพัฒนา เผยแพร่วัฒนธรรมด้านดนตรีในรูปแบบวงดุริยางค์ซิมโฟนี มุ่งเน้นการให้บริการ งานนันทนาการดนตรี สร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม สร้างภาคีเครือข่ายด้านดนตรีร่วมกับชุมชน เยาวชน นักศึกษา ศิลปิน และวงดนตรีต่างๆ จัดกิจกรรมดนตรีและงานพิธีการกรุงเทพมหานคร
วงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร ได้จัดการแสดงและร่วมกิจกรรมดนตรีกับหน่วยงานอื่นๆ การแสดงดนตรี ร้องบรรเลงเพลงของพ่อ กิจกรรมกรุงเทพมหานครสดุดีจอมราชา ร่วมมือกับภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกับสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นต้น
สำหรับกองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เคยมีความรุ่งเรืองในสมัยที่ยังแต่งตั้งผู้ว่าราชการ เมื่อ พ.ศ.2510 มีครูบุญยัง เกตุคง นักระนาดทุ้ม (น้องชายของครูบุญยงค์ เกตุคง นักระนาดเอก) ครูบุญยังเข้ารับราชการที่งานดนตรีไทย ฝ่ายสันทนาการ กรุงเทพมหานคร มีนักดนตรีไทยฝีมือฉกาจทำงานกับกรุงเทพมหานครจำนวนมาก วงปี่พาทย์กรุงเทพมหานคร แข็งแรงและเจริญรุ่งเรืองสุด
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ขยายเป็นกองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โดยงานดนตรีไทยและดนตรีสากลอยู่ด้วยกัน สำหรับวงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร เป็นงานที่เกิดขึ้นใหม่ เป็น กลุ่มนักดนตรีที่มีฝีมือ อาศัยอยู่ในกองเล็กๆ ของงานกรุงเทพมหานคร นักดนตรียังไม่มีตำแหน่งราชการ งานที่ทำก็เป็นลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างเฉพาะงาน นักดนตรีจึงมีความพยายามจะสร้างงานเพื่อให้เข้าตาผู้บริหาร เพื่อว่าจะได้บรรจุเป็นพนักงานหรือได้เป็นข้าราชการ ทั้งนี้ งานวงดุริยางค์ยังไม่มีโครงสร้างรองรับ
กรุงเทพมหานครมีกิจกรรมดนตรีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นงานเฉพาะกิจ (อีเวนต์/Event) ซึ่งเป็นวิธีคิดของฝ่ายบริหาร โดยใช้บริษัทรับจ้างจัดงาน เพราะสามารถจะทำงานให้เสร็จและใช้จ่ายเงินได้เร็ว ไม่ต้องยุ่งเรื่องวัสดุครุภัณฑ์หรืออาคารสถานที่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมดนตรีเฉพาะกิจ (อีเวนต์) มีความเจริญมาก ทั้งงานที่กระทรวงวัฒนธรรมและที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีต้นแบบอยู่มากมาย
เมื่ออธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ชวนมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมจัดงานดนตรีในสวน บริเวณหน้าสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สะพานพระราม 8 แต่เดิมก็วางแผนกันไว้แค่ 5 ครั้ง จัดกันเฉพาะวันอาทิตย์ เดือนมกราคม ข่าวไปถึงนักดนตรีวงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร ก็ขออาสาจะเล่นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะเปิดตัวแสดงผลงาน จึงได้ขยายกลายเป็น 6 ครั้ง และมี 6 วงดนตรีด้วยกัน
นักดนตรีวงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มนักดนตรีที่น่าเห็นใจเป็นที่สุด เพราะยังตกอยู่ในสภาพเป็นลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างเฉพาะกิจ ไม่มีหลักประกันใดๆ ในอาชีพ ที่สำคัญก็คือเจ้านายและหน่วยงานมองไม่เห็นความสำคัญ เป็นแค่งานแรงงาน มีไว้ใช้งานและประดับองค์กร เมื่อจำเป็นจะใช้ก็เรียกไปใช้งาน เมื่อไม่จำเป็นก็ทิ้งขว้างโดยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง
ที่น่าแปลกใจก็คือ เมื่อกรุงเทพมหานครมีงบประมาณจัดกิจกรรมดนตรีขึ้นในสวนเพื่อจะมอบความสุขให้แก่ประชาชน แต่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครกลับไปเปิดประมูลเพื่อให้บริษัทมีคนกลางเข้ามารับจัดดนตรีแทน แต่ไม่ได้นำเงินมาพัฒนาวงดุริยางค์กรุงเทพมหานครของตัวเองให้ดี เป็นเรื่องที่แปลก
เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร นิวยอร์ก บอสตัน ลอนดอน โตเกียว เบอร์ลิน เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ซิดนีย์ ล้วนมีวงดนตรีประจำเมืองที่หรูและเป็นหน้าตาของเมือง มีหอแสดงดนตรีงดงาม (Auditorium) ไว้อวดชาวโลก มีดารานักดนตรีระดับโลกเดินทางไปแสดงประดับเมือง สามารถใช้ดาราโลกเป็นหน้าตาของประเทศได้ เพราะเป็นเมืองใหญ่ๆ เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองที่มีธุรกิจหลัก มีการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ เป็นเมืองที่จัดงานอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า การแสดงศิลปวัฒนธรรม งานแฟชั่น เมืองแห่งความสุข รวมทั้งมหกรรมดนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นการนำรายได้เข้าเมืองและเข้าประเทศด้วย
วิธีการทำงานบริหารวงดนตรีของเมืองใหญ่ จึงต้องใช้ “คนรู้เป็นคนชี้” คนรู้ที่มีความสามารถสูงเท่านั้นและทำงานคุณภาพอย่างมีอิสระ “เผด็จการโดยธรรม” วัดกันที่คุณภาพโดยเปรียบเทียบกับรสนิยมนานาชาติ การรับฟังทุกฝ่ายโดยวิธีประชาธิปไตยในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าวิธีประชาธิปไตยนั้นดีเพราะทุกคนมีส่วนร่วมได้ออกเสียง แต่การยกมือพร้อมๆ กัน ก็คือการเฉลี่ยความโง่กับความฉลาด ให้ “โง่เท่ากันหมด”
ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ อำนาจและเงินไปอยู่ในมือของคนโง่ ดังนั้น เรื่องรสนิยม คุณภาพในด้านดนตรี ศิลปะ และคุณภาพชีวิต จึงต่ำกว่ามาตรฐานนานาชาติ การนำดนตรีและศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งวิถีชีวิตเพื่อนำเสนอความแตกต่าง มอบให้ผู้คนในชาติและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม จึงเป็นวิสัยทัศน์ของการนำสังคมไปสู่โลกอนาคต “อวดความแตกต่างและอวดความเป็นฉันได้” โดยผ่านงานดนตรีและศิลปะ
อธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้จัดงานดนตรีที่สวนสะพานพระราม 8 ครั้งนี้ เพราะต้องการจัดกิจกรรมดนตรีให้เป็นต้นแบบกับกรุงเทพมหานคร ว่าดนตรีเป็นอาชีพหนึ่ง ไม่แตกต่างไปจากอาชีพอื่นๆ รัฐอย่างกรุงเทพมหานคร จะต้องสนับสนุนให้นักดนตรีที่มีฝีมือ ผู้มีศักยภาพเป็นเลิศทางดนตรี มีพื้นที่แสดงดนตรีเป็นอาชีพที่มีเกียรติเชื่อถือได้ ดนตรีเป็นอาชีพที่สร้างสรรค์และสามารถเติมเต็มจินตนาการของชีวิตได้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่มีรสนิยม น่าจะได้นำรสนิยมและคุณค่ามาเติมเต็มชีวิตให้มีมาตรฐานมากขึ้น พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพมหานคร พัฒนาคุณภาพชีวิตไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ เพื่อนำความเจริญก้าวหน้าให้คนในกรุงเทพมหานครได้มีความหวังมากขึ้น
นโยบายการจัดแสดงดนตรี การศึกษาดนตรีของเด็กในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร ก็ยังตกต่ำอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนชั้นนำในกรุงเทพมหานคร เด็กในโรงเรียนนานาชาติ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ควรจะยกระดับการจัดกิจกรรมดนตรีที่มีอยู่ จัดงบประมาณดูแลวงดุริยางค์กรุงเทพมหานคร แค่นำเอางบประมาณที่มีอยู่แล้วมาจัดให้มีประสิทธิภาพก็หรูมากแล้ว คุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพมหานครจะดีขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ในบรรดาวงดุริยางค์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน วงดุริยางค์กรุงเทพมหานครน่าเห็นใจเป็นที่สุด เป็นวงดนตรีที่ไม่มีโครงสร้างองค์กรรองรับ ไม่มีงบประมาณ มีแต่หน้าที่และการจ้างแบบค่าแรงขั้นต่ำ อย่าลืมว่านักดนตรีที่อยู่ในวงดุริยางค์กรุงเทพมหานครเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีฝีมือสูง สามารถที่จะสร้างงานได้รวดเร็วและมีคุณภาพ หากผู้บริหารกรุงเทพมหานครไม่สร้างอนาคตให้นักดนตรีที่มีฝีมือเหล่านี้ เมื่อพวกเขามีช่องทางอื่น เขาก็จากไป ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครเสียโอกาส
สำหรับเพลงที่วงดุริยางค์กรุงเทพมหานครนำมาแสดงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นเพลงแห่งความรัก อาทิ เพลงแขกเชิญเจ้า ความรัก (รัชกาลที่ 6) ตาแสนกลม (ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์) สิ้นรักสิ้นสุข (หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์) นกขมิ้น (เดี่ยวไวโอลิน) เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน โลกนี้คือละคร ลานรักลั่นทม น้ำลงเดือนยี่ น้ำลงนกร้อง มนต์เมืองเหนือ กลิ่นโคลนสาบควาย มะนาวไม่มีน้ำ น้ำค้างเดือนหก มนต์รักแม่กลอง แม่ค้าตาคม ฝนซาฟ้าใส เป็นต้น
นักร้องประกอบด้วย คุณพัทธนันท์ อาจองค์ คุณน้ำฟ้า แก้วรัตนศรีโพธิ์ คุณเบ็น กลอยยิ่ง และคุณกาญจนา จันทร์ไผ่ โดยมีคุณสรพจน์ วรแสง เป็นผู้ควบคุมวง มีคุณสาธิต ชมเชี่ยวชาญ เป็นหัวหน้าวง ขอชวนเชิญชมวงดุริยางค์กรุงเทพมหานครเล่นบทเพลงแห่งความรัก เพื่อให้กำลังใจแก่นักดนตรีอาชีพที่มีฝีมือและยังรักที่จะเล่นดนตรีอยู่
บรรยายใต้ภาพ
ครูบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ) นักดนตรีไทยวงกรุงเทพมหานคร
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2566 (กรอบบ่าย)