(12 ก.พ.66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบรางวัลให้กับนิสิตที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศงาน SIFE SECC 2023 และกล่าวบรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของบทบาทของเยาวชนกับ Social Enterprise ต่อสังคมไทย” ณ โรงละครเภตราลัย (Black Box) ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดโครงการ SIFE Social Enterprise Case Competition (SECC) ซึ่งเป็นการแข่งขันการแก้ปัญหาเชิงธุรกิจ จนได้ผู้ชนะเลิศ SIFE SECC 2023 เป็นสะพานที่นำความคิดของเด็กรุ่นใหม่ ไปต่อยอดในการบริหารเรื่องที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งกทม.มีโครงการ Bangkok City Lab ห้องทดลองเมือง เพื่อพัฒนานวัตกรรมไซเบอร์เทคของกรุงเทพมหานคร ที่สามารถรองรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อร่วมพัฒนากรุงเทพฯไปกับคณะผู้บริหารและทีมภาคีเครือข่ายได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Test Base Area) และช่วยส่งเสริมให้ Startup หรือ SMEs นำไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ Solutions ทางนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาเมือง หรือเพิ่มบริการสาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงการทำให้เมืองน่าอยู่ และมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้กับคนเมืองมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสใหม่ให้กับคนได้สร้างรายได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยรูปแบบการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้เป็นกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น-ภาคประชาชน และเอกชน ในการร่วมกันคิดค้นประเด็นปัญหาเมืองตลอดจนถึงการพัฒนานวัตกรรมและร่วมทดลองใช้งานห้องทดลองเมือง (City Lab) เพื่อใช้ยืนยันประสิทธิภาพก่อนนำไปขยายผลต่อไป
“ความสำคัญของบทบาทของเยาวชนกับ Social Enterprise ต่อสังคมไทย เป็นสิ่งที่กรุงเทพฯให้ความสำคัญ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์
จากการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) นำมาแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้และนวัตกรรมสังคม ซึ่งกทม.พร้อมจะสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว เพื่อให้คนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนากรุงเทพฯซึ่งเป็นเหมือนบ้านที่ผู้อยู่อาศัยต้องเป็นคนปรับปรุง แก้ไข สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นเอง จึงจะถูกใจและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมนำพาให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวในการบรรยาย
สำหรับผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศงาน SIFE SECC 2023 ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “ชนะไม่ด้วยเล่ห์ก็ด้วยกล” รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ” SIFE ว่าซิบ่ทิ่มกัน”
ทั้งนี้ ชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการ SIFE Social Enterprise Case Competition (SECC) ซึ่งเป็นการแข่งขันการแก้ปัญหาเชิงธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและสร้างธุรกิจไปพร้อมกับชุมชน โดยเปิดโอกาสให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาธุรกิจในชุมชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งชุมนุม SIFE จะนำแนวทางการแก้ปัญหาของทีมที่ชนะเลิศไปต่อยอดในการพัฒนาชุมชนในปีต่อไป อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนานิสิตให้เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับโจทย์ในการแข่งขัน SIFE SECC 2023 อ้างอิงมาจากโครงการปลาร้าแปรรูป ตำบลบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ทางชุมนุม SIFE ได้เข้าไปพัฒนาร่วมมือกับโครงการ EISA (Education Institute Support Activity) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชุมชนปลาร้าแปรรูป เป็นชุมชนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและมีจุดเด่นคือการผลิตปลาร้าจากปลาดุกและปลานิล นอกจากนี้ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์รองเป็นน้ำพริกซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุดิบจากปลามาดัดแปลงเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม โดยโจทย์การแข่งขันในปีนี้ จะครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องการขยายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า เป็นต้น โดยมีเกณฑ์การประเมินที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานการณ์ ผลกระทบต่อชุมชนและความยั่งยืน และความเป็นไปได้ของแนวทางที่ผู้เข้าแข่งขันได้นำเสนอ
#เรียนดี #สร้างสรรค์ดี #เศรษฐกิจดี
—————–