กทม.เปิด 5 ช่องทางรับฟังความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ ถึง 13 ก.พ.นี้
นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอความร่วมมือว่า กทม.ได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้ติดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร จำนวน 5 รูปแบบ พร้อมแผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งไว้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต รวมทั้งศาลาว่าการ กทม.ทั้ง 2 แห่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพฯ เป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 4 – 13 ก.พ.66
สำหรับขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป มีดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ต้องจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน และประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนเป็นเวลา 10 วัน โดยพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพฯ สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 ได้ตั้งแต่วันที่ 4 – 13 ก.พ.66 ตามช่องทางต่าง ๆ ที่สะดวก ประกอบด้วย การแสดงความคิดเห็นด้วยตนเองที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร 120 หมู่ที่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารรัฐประศาสนภักดี อาคารบี ชั้น 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ หมายเลข 0 2141 8066 ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ การแสดงความคิดเห็นทางโทรสาร หมายเลข 0 2143 8530 ภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 13 ก.พ.66 การแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร 120 หมู่ที่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารรัฐประศาสนภักดี อาคารบี ชั้น 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ รหัสไปรษณีย์ 10210 โดยถือตราประทับไปรษณีย์ต้นทางอย่างช้าภายในวันที่ 13 ก.พ.66 การแสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ Email : [email protected] ภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 13 ก.พ.66 โดยมีกรอบระยะเวลาการแสดงความคิดเห็นภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ ระหว่างวันที่ 4 – 13 ก.พ.66
ขั้นตอนที่ 2 ภายใน 3 วัน นับแต่สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร แล้วรวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพฯ พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครอย่างน้อย 3 รูปแบบ เรียงตามลำดับความเหมาะสม เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันถัดไป และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครและได้แบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
เขตลาดกระบังประสานตำรวจเร่งติดตามไรเดอร์ขี่ จยย.เฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าพร้อมกวดขันจับปรับผู้ฝ่าฝืนต่อเนื่อง
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามดำเนินคดีกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าเฉี่ยวชนประชาชนบริเวณปากซอยลาดกระบัง 13/8 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุแล้วไม่พบกล้องวงจรปิด (CCTV) ของ กทม. จึงทำหนังสือประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) จระเข้น้อย เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมาย หากได้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว สำนักงานเขตฯ จะดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ด้วยอัตราโทษสูงสุดต่อไป ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบธุรกิจให้บริการส่งอาหาร เพื่อกำชับพนักงานไม่ให้ฝ่าฝืนกระทำความผิด จอด หรือขับขี่รถบนทางเท้า หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามอัตราโทษสูงสุดและดำเนินคดีกับผู้ประกอบการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำเสากั้นบริเวณจุดที่มีการกระทำความผิดบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฝ่าฝืนกระทำความผิดและติดป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณถนนสายหลัก เพื่อแจ้งเตือนไม่ให้ฝ่าฝืนกระทำความผิดจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้า รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันอย่างต่อเนื่องทุกวัน ตลอดจนประสานประธานชุมชนในพื้นที่ทั้ง 65 ชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านมีจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม เคารพสิทธิของผู้ใช้ทางเท้า และสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดตามช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ต่าง ๆ เพื่อให้สำนักงานเขตฯ ดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.มีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าในทุกพื้นที่กรุงเทพฯ โดยดำเนินการตามโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าตามถนนต่าง ๆ ตั้งจุดจับ – ปรับบริเวณที่มีการฝ่าฝืนจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือน ก.ค.61 – 3 ก.พ.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนได้ 45,950 ราย ปรับเป็นเงิน 50,024,200 บาท และหากผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย หรือเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับบาดเจ็บ หรือหากต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ สน.ท้องที่ดำเนินคดีอาญาอีกข้อหาหนึ่งด้วย
ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการตามโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อการจัดระเบียบเมือง (รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม.กับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดทันที ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ www.bangkok.go.th/reward เพจเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ หรือแจ้งโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ทุกสำนักงานเขต
กทม.วางมาตรการแก้ปัญหาความเดือดร้อนชุมชนท่าเตียนระหว่างก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวร
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีชาวชุมชนท่าเตียนร้องเรียนการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำจุดฟันหลอท่าเรือแดง ซอยท่าเตียนล่าช้าว่า สนน.ได้เตรียมวางแผนการก่อสร้างแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแนวฟันหลอ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งบริเวณท่าเรือแดงเป็นแนวฟันหลอ ความยาวประมาณ 20 เมตร ได้สำรวจ ออกแบบและประมาณราคางานก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือแดงแล้ว โดยการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว กทม.ต้องยื่นขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อกรมเจ้าท่าก่อนดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย และจะต้องมีหนังสือจากเจ้าของที่ดินที่ติดแม่น้ำให้ความยินยอมก่อสร้างประกอบการขออนุญาตปลูกสร้างด้วย
สำหรับสาเหตุที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนได้ เนื่องจากบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนมีการฟ้องร้องระหว่างเจ้าของท่าเรือแดงกับกรมเจ้าท่า เจ้าของที่ดินไม่ยินยอมให้ก่อสร้าง รวมถึงมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำที่ไม่สามารถรื้อย้ายออกได้ อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนชุมชนท่าเตียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในระหว่างที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนได้ โดยจัดเจ้าหน้าที่เรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง
นอกจากนี้ ในปี 2565 สนน.ได้สำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงตลอดแนวความยาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งออกแบบการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาในบริเวณที่สามารถทำได้และที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน โดยได้ขอจัดสรรงบประมาณปี 2566 (เพิ่มเติม) รวมทั้งสิ้น 22 เเห่ง เเบ่งเป็น การก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม 6 แห่ง และปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมที่ชำรุด 16 แห่ง ส่วนจุดที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ กทม.จะดำเนินมาตรการชั่วคราว ด้วยการเรียงกระสอบทราย เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวว่า ในระหว่างที่การก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำถาวรยังไม่แล้วเสร็จ สำนักงานเขตพระนครร่วมกับ สนน.ดูแลป้องกันและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คือ ชุมชนท่าวัง ซึ่งมีจุดฟันหลอ 2 จุด คือ บริเวณซอยท่าเตียนและซอยเพ็ญพักตร์ โดยจัดเรียงกระสอบทราย ทำแนวกั้นน้ำชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่
เขตสะพานสูงแจงข้อเท็จจริงการถมดินและสร้างสะพานเหล็กชั่วคราว
นางสาวเสาวลักษณ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กทม. กล่าวกรณีชาวหมู่บ้านพฤกษชาติ หมู่บ้าน เค ซี เลควิล หมู่บ้านกัลปพฤกษ์ และผู้พักอาศัยละแวกใกล้เคียงในเขตสะพานสูง ร้องเรียนบริษัทเอกชนถมดินในบึงน้ำสาธารณะ รวมทั้งการอนุมัติก่อสร้างสะพานเหล็กข้ามคลองวังใหญ่ว่า บริเวณดังกล่าวมีการคัดค้านการถมดินสำนักงานเขตฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่ หรือทางสาธารณะ พ.ศ.2539 ประกอบด้วย ผู้แทน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่งตั้งโดยปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวได้ประชุมสอบสวนหาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งสอบปากคำผู้อยู่อาศัยใกล้บริเวณที่ดินที่มีลักษณะคล้ายบึงน้ำดังกล่าว โดยมีมติที่ประชุมว่า ที่ดินมูลกรณีนั้นเป็นที่ดินส่วนบุคคลของบริษัทเนอวานาพระราม 9 จำกัด ซึ่งปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้สำนักงานเขตฯ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สำนักงานเขตฯ จึงออกใบรับแจ้งการถมดินให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขุดดิน พ.ศ.2543
ส่วนกรณีการอนุมัติให้เอกชนก่อสร้างสะพานเหล็กข้ามคลองวังใหญ่ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อนุญาตก่อสร้างสะพานเหล็กชั่วคราวที่มีกำหนดเวลารื้อถอนเมื่อถมดินแล้วเสร็จ และเป็นการสร้างสะพานข้ามคลองวังใหญ่ทั้งคลองไม่ใช่ครึ่งคลอง รวมทั้งสะพานดังกล่าวได้รับอนุญาตหลังจากเจ้าของที่ดินได้รับใบรับแจ้งการถมดิน โดยทางขึ้น – ลงสะพานทั้ง 2 ฝั่ง เป็นที่ดินเอกชน มีเนื้อที่ประมาณ 71 ไร่ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกติดที่ดินหมู่บ้านพฤกษชาติ ทิศตะวันตกติดที่ดินหมู่บ้าน เค ซี เลควิว ด้านทิศใต้ติดคลองวังใหญ่ ซึ่งเป็นคลองสาธารณะ โดยได้ตรวจสอบจากระวางที่ดินพบว่า บึงน้ำดังกล่าวมีเอกสารสิทธิที่เป็นโฉนดที่ดินและซื้อขายต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่เห็นทางกายภาพว่า เป็นบึงน้ำ ได้สอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า เจ้าของโฉนดที่ดินเดิม ได้ขุดดินบริเวณนี้นำไปถมดินก่อสร้างหมู่บ้านพฤกษชาติ จึงมีลักษณะคล้ายบึงน้ำตามที่ปรากฏ