กทม.เตรียมประกาศจุดทำการค้าเพิ่มอีก 31 จุด ประสานทุกภาคส่วนร่วมจัดระเบียบพื้นที่
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวกรณีนักวิชาการเสนอแนะการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยต้องเริ่มจากระดับเขต เพื่อนำไปสู่การกำหนดจุดผ่อนผันค้าขายริมทางว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ มีแนวทางการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยพิจารณาทางเท้า หรือสถานที่สาธารณะที่มีความเหมาะสม ไม่มีปัญหา เช่น การจราจร การสัญจรของประชาชน ความปลอดภัย หรืออื่น ๆ อนุญาตให้สามารถทำการค้าได้ โดยขณะนี้มีจุดทำการค้าที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจรและประกาศอนุญาตแล้ว 55 จุด อยู่ระหว่างเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามประกาศจุดทำการค้าเพิ่มเติมอีก 31 จุด และอยู่ระหว่างขอทบทวนกลับไปที่เจ้าพนักงานจราจรอีกครั้ง และมีจุดอื่น ๆ ที่จะทยอยพิจารณาอนุญาตให้ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ประสานส่วนราชการอื่น ภาคเอกชน และห้างสรรพสินค้า เพื่อเชื่อมโยงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้งมิติเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี และโครงสร้างดี ที่ให้ความสำคัญกลุ่มผู้ค้าทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ค้าที่มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ค้าที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมีแนวทางดำเนินการ อาทิ การหาพื้นที่ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่ค้าขาย หาพื้นที่ของเอกชน หรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของ หรือศูนย์อาหาร (Hawker Center) การจัดตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การจัดทำฐานข้อมูลและลงทะเบียนผู้ค้า การสร้างความมั่นคงด้านการประกอบอาชีพค้าขาย ขณะเดียวกันยังให้สำนักงานเขตประสานภาคเอกชนและสถาบันการเงินเข้ามามีส่วนร่วมจัดระเบียบ เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์ทำการค้า โดยที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น สำนักงานเขตราชเทวีได้รับการสนับสนุนร่มและแผงค้าจากกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ สำนักงานเขตบางกอกน้อยได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลธนบุรี สำนักงานเขตพญาไทได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน สำนักงานเขตดุสิตได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นต้น ตลอดจนกำหนดแผนการจัดระเบียบดังกล่าวข้างต้นให้สำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการค้าที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจร แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยจะสิ้นสุดระยะที่ 3 ในเดือน พ.ค.66 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทำการค้าของกรุงเทพฯ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามต่อไป
กทม.เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยในช่วงฤดูหนาว
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อให้หน่วยงานของ กทม.ใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมรองรับเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งสั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยในสังกัดประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศแห้งและมีลมแรง ตลอดจนให้คำแนะนำและประสานความร่วมมือกับชุมชนตรวจตรา เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายจากเหตุอัคคีภัย พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ชุมชนแออัด หรือชุมชนที่มีประชาชนพักอาศัยหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุอัคคีภัยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.ติดตามเฝ้าระวังโควิด 19 ต่อเนื่อง แนะกลุ่มผู้สูงอายุ – มีโรคเรื้อรังเข้ารับวัคซีน
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงมาตรการติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 8 พื้นที่เฝ้าระวังในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือพื้นที่เฉพาะ (Sentinel Surveillance) ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด โดยเตรียมพร้อมศักยภาพเตียงในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ และเตรียมบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง และทีม สหสาขาวิชาชีพที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีอัตราการครองเตียงรวมสูงเกินร้อยละ 80 จะขยายศักยภาพเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป โดยขณะนี้สถานการณ์เตียงของ กทม.ยังสามารถบริหารจัดการและขยายเพิ่มได้ แต่ต้องบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้ระบบส่งต่อไร้รอยต่อ โดย กทม.มีศูนย์เอราวัณ เป็นผู้ประสานส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลัก
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 กรุงเทพมหานคร ได้ขยายวันจัดบริการฉีดวัคซีนในวันเสาร์และจัดบริการเชิงรุกถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการรับวัคซีน รวมทั้งยังเปิดให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ใน 11 โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.บริการวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนที่จำเป็นอื่น ๆ ให้ประชาชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง สามารถดูรายละเอียดการให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ทั้ง 11 รพ.ในสังกัด กทม.ได้ที่ https://shorturl.asia/Qs5EL รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองและคนในครอบครัวเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง DMHTT และ COVID Free Setting และควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากต้องการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 บริการตลอด 24 ชั่วโมง