กทม.กำชับโครงการก่อสร้างป้องกันปัญหาการระบายน้ำทุกโครงการ – กวดขันผู้ค้าห้ามทิ้งสิ่งปฏิกูลลงท่อระบายน้ำ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตสาเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตบางกอกน้อยเกิดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมถึงการทิ้งเศษอาหารและไขมันลงท่อระบายน้ำว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยมีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างทุกโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงปัญหาด้านการระบายน้ำบริเวณโดยรอบทุกโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ควบคุมงาน กำกับติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาได้แก้ไขปรับปรุงมาเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนได้กำชับผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างทุกโครงการให้ตรวจสอบโดยละเอียด หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไขทันที ขณะเดียวกันได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคลอกท่อระบายน้ำและจัดระเบียบการจราจรในพื้นที่โครงการก่อสร้างและดำเนินการก่อสร้างตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค ปี พ.ศ.2550 และเงื่อนไขในหนังสืออนุญาต โดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า สำนักเทศกิจ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 โดยกำชับการก่อสร้างต้องมีสิ่งปกคลุม ไม่ให้มีวัสดุตกหล่น หรือออกมาจากสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งห้ามกองวัสดุออกมาในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด ส่วนผู้ค้าและร้านอาหารเจ้าหน้าที่เทศกิจได้กวดขันตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในท่อระบายน้ำ โดยให้ติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำ หากฝ่าฝืนจะมีอัตราโทษหนัก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมคลองไม่ให้ฝ่าฝืนทิ้งขยะลงคูคลอง โดยกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจให้กวดขันอย่างต่อเนื่อง
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันการทิ้งเศษวัสดุจากการก่อสร้างลงท่อระบายน้ำ กรุงเทพมหานครได้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำกับดูแลผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง อาทิ อิฐ หิน ดิน ทรายลงท่อระบายน้ำโดยเด็ดขาด ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขประกอบการขออนุญาตเข้าพื้นที่ เพื่อดำเนินการก่อสร้างอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีเงื่อนไขทั้งก่อนการเข้าพื้นที่ ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการตรวจสอบและแก้ไขจุดบกพร่องก่อนการรับมอบพื้นที่
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ มีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้ค้า ร้านค้า และหาบเร่แผงลอยไม่ให้ทิ้งขยะเศษอาหารและไขมันลงท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาขยะและไขมันอุดตันท่อระบายน้ำ โดยรณรงค์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหารติดตั้งบ่อดักไขมัน เพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ประชาสัมพันธ์ห้ามผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหารและผู้ค้าริมบาทวิถีทิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอยในที่ หรือคลองสาธารณะ รวมทั้งตรวจสอบ กวดขัน ควบคุมกำกับสถานประกอบการอาหารให้หมั่นดูแลบ่อดักไขมันให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ และตรวจสอบท่อระบายน้ำบริเวณที่มีร้านจำหน่ายอาหาร หรือแผงลอยจำนวนมาก เพื่อเก็บขยะและลอกไขมันออกจากท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ หากมีประชาชนแจ้งว่า พบเห็นขยะ หรือไขมันอุดตันท่อระบายน้ำ สำนักงานเขตฯ จะจัดเจ้าหน้าที่เก็บขยะ หรือไขมันที่อุดตันออก เพื่อเปิดทางระบายน้ำ รวมถึงส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแนะนำตักเตือน หรือเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ตลอดจนออกคำสั่งทางปกครองให้แก้ไขปรับปรุงตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดต่อไป
กทม.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำพร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง – แจ้งเส้นทางน้ำท่วมขังผ่านแอปฯ BMA Traffic
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำว่า สำนักการระบายน้ำ ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่จุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงในช่วงที่มีน้ำขึ้น ส่วนพื้นที่บางแห่งที่มีระดับแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม.จะจัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่ง ได้อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนกรณีเกิดน้ำท่วมขังบนผิวจราจร โดยให้ข้อมูลข่าวสารแบบ Real Time ถนนเส้นทางใดมีน้ำท่วมขังและมีการจราจรติดขัดขณะเกิดฝนตก เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถวางแผน หรือตัดสินใจในการเดินทางไปบนถนนสายต่าง ๆ หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมขัง รวมทั้งประเมินว่า ถนนที่มีน้ำท่วมขังมีระดับน้ำที่รถสามารถขับผ่านไปได้หรือไม่ นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแอปพลิเคชัน BMA Traffic ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดตั้งในโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ Android และระบบ iOS โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิด (CCTV) ของสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ที่ส่องไปในทิศทางบนถนน ซึ่งสามารถเลือกดูภาพจากกล้อง CCTV ในจุดที่ต้องการ เพื่อตรวจสอบสภาพการจราจรและจุดน้ำท่วมขังบนผิวจราจรของถนนที่ต้องการจะเดินทางไป หรือใช้ประเมินเบื้องต้นว่า ระดับน้ำที่ท่วมขังบนถนนมีระดับที่รถสามารถขับผ่านไปได้หรือไม่ โดยแสดงภาพวิดีโอแบบ Real Time
กทม.บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนพายุดีเปรสชัน ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้เตรียมความพร้อมแผนรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน โดยสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมเพิ่มเติม โดยเฉพาะถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน (หน่วยเบสท์) พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อลงพื้นที่แก้ไขปัญหา พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมถึงจัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางนา คลองพระโขนง และคลองประเวศบุรีรมย์ ลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ แก้มลิง และบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) ให้อยู่ในระดับต่ำ และเตรียมความพร้อมใช้งานอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 316 แห่ง ตลอดจนประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมชลประทานระบายน้ำจุดเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ฝั่งด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ กรมชลประทาน ได้ลำเลียงน้ำลงสู่คลอง 13 และคลองในแนวเหนือ-ใต้ เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทยตามลำดับ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ กองทัพภาคที่ 1 สนับสนุนทหารเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงและสถานีสูบน้ำต่าง ๆ เพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งจัดรถรับ-ส่งประชาชนในกรณีที่มีน้ำท่วมขังระดับสูง ซึ่งไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากที่พักอาศัยได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ กองทัพเรือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับทราบสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ แบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงการแจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก และรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue มายังสำนักการระบายน้ำ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์กรณีเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและฝนตกสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า และพื้นที่เขตรอยต่อกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดเตรียมยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางเมื่อเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะในเส้นทาง หรือพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วมขัง หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า สำนักเทศกิจ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต ยานพาหนะ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ให้ความช่วยเหลือรถของประชาชนที่เครื่องยนต์ดับ หรือเครื่องยนต์ขัดข้อง และจัดยานพาหนะให้บริการรับ – ส่ง ประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อเดินทางกลับที่พักอาศัย หรือไปส่งยังที่ปลอดภัย ตลอดจนเข้าร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
นายปิยะ พูดคล่อง ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. กล่าวว่า สำนักการคลัง ได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก โดยจัดเจ้าหน้าที่กองโรงงานช่างกลที่มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมเครื่องยนต์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้เตรียมรถยกลากจูง 6 คัน และรถซ่อมเคลื่อนที่เร็วอีก 8 คัน พร้อมออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังทั้งบนถนนสายหลักและสายรอง ตลอดจนติดต่อตามผังการติดต่อสื่อสารในภาวะวิกฤติน้ำท่วมขังตามที่หน่วยงานขอความช่วยเหลือ หรือลงพื้นที่จุดอ่อนที่มีน้ำท่วมขังประจำ เพื่อพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที
กทม.สำรวจความเสียหายเร่งช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในกรุงเทพฯ
นายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กทม. กล่าวกรณีเกษตรกรในชุมชนอาสาพัฒนา หมู่ 17 แขวงสามวาตะวันออก ร้องเรียนนาข้าวจมน้ำมากว่า 2 เดือน ขอให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า สำนักงานเขตคลองสามวา ร่วมกับสำนักงานเกษตรพื้นที่ 1 ได้สำรวจพื้นที่ความเสียหายเบื้องต้นช่วงเกิดภัยพิบัติ ระหว่างวันที่ 10 – 19 ก.ย.65 โดยสำนักงานเกษตรพื้นที่ 1 รวบรวมและรายงานว่า มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 29 ราย คิดเป็นพื้นที่ 151.625 ไร่ ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้พิจารณาเสนอสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. เพื่อประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ สปภ.จัดทำประกาศเขตภัยพิบัติ รวมทั้งได้เชิญผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณภัยของสำนักงานเขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี และเขตคลองสามวา ซักซ้อมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้ดำเนินการตามแนวทางและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติของ กทม.พร้อมจัดส่งรายงานความเสียหายด้านพืชและด้านประมงให้สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. ซึ่ง สพส.ได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่เกษตรเขตคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง ประเวศ บางเขน คันนายาว และเขตหนองจอก เข้าประชุมหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย ร่วมกับสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานเกษตรพื้นที่ 1,2 สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ 3 สำนักงานประมงพื้นที่ 1,2 และ สปภ. กทม.เพื่อพิจารณาแนวทางและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณา
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สปภ.ได้รับหนังสือจาก สพส.กทม.แจ้งว่า มีเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่เขตคลองสามวาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 6 ราย ซึ่งได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2564 ข้อ 8 โดยจะช่วยเหลือเป็นเงินสมทบในการจัดซื้อพันธุ์สัตว์เลี้ยง หรือพืชพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ในกรณีที่ผู้ประสบภัยมีอาชีพเกษตรกรรม หรือเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพ ไม่เกิน 11,400 บาท/ครอบครัว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมนาข้าว พืชไร่ และพืชผลในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปตามแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติของ สพส.โดยหากมีการประกาศให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้แล้ว จะใช้แนวทางให้ความช่วยเหลือฯ โดยใช้งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ จะมีแนวทาง การให้ความช่วยเหลือโดยใช้งบประมาณของ สปภ. ส่วนกรณีไม่มีการประกาศให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน การดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทั้งที่ขึ้นทะเบียนฯ และไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ จะใช้แนวทางการให้ความช่วยเหลือฯ โดยใช้งบประมาณของ สปภ.
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปภ.ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสนับสนุนถุงยังชีพไปแล้ว จำนวน 8 เขต ประกอบด้วย เขตลาดกระบัง คลองสามวา ลาดพร้าว วัฒนา คันนายาว คลองสาน บางขุนเทียน และเขตสายไหม รวม 3,203 ถุง รวมถึงดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ ตลอดจนระเบียบและหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ทางราชการกำหนดต่อไป
กทม.ให้บริการเชิงรุกดูแลสุขภาพประชาชน – เฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดต่อในช่วงอากาศหนาว
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนให้ประชาชนระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิลดลงว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศแปรปรวนอย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายกลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชนและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง ให้บริการเชิงรุกเข้าถึงชุมชนดูแลผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยติดเตียง และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งไม่สะดวกในการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล พร้อมเผยแพร่ให้ความรู้ เช่น จัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรคในฤดูหนาวแก่ประชาชนที่มารับบริการ และประชาชนในพื้นที่โดยรอบ รพ.ให้ตระหนักในการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง ขณะเดียวกันศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ สำนักการแพทย์ พร้อมด้วย รพ.ในสังกัดได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสุขภาพ เช่น โรคที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย วิธีการป้องกันและดูแลรักษาโรคในฤดูหนาว ผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ Facebook Fanpage : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ LINE OpenChat : ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ MIL Center
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวังและจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาว รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุก รพ.ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง