กทม.วางแนวทางเสริมสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงานของพนักงานกวาด
นางสาวเสาวลักษณ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผู้ก่อเหตุขับรถชนพนักงานกวาดเขตสะพานสูงเสียชีวิตว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานแขวงการทางสะพานสูง เพื่อขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ในถนนมอเตอร์เวย์และจุดใกล้เคียง ตั้งแต่ด่านเก็บเงินทับช้าง – ทางแยกคลองเจ็ก รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในบริเวณจุดเกิดเหตุ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และจากการสืบสวนหาผู้กระทำความผิดของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางชัน โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการตรวจภาพจากกล้อง CCTV ทำให้สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดได้ภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาสำรวจจุดติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม ทั้งเส้นทางสายหลัก สายรอง และถนนที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น รวมถึงจุดเสี่ยงในชุมชนที่มีการร้องขอ เพื่อรวบรวมส่งให้สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.จัดสรรงบประมาณติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม นอกจากนั้น ยังได้ประสาน สน.ในพื้นที่จัดอบรมพนักงานกวาด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและแนวทางการปฏิบัติงานบนถนนให้เกิดความปลอดภัย เช่น การตั้งวางกรวยยางป้องกันภัย การสวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสง การปฏิบัติงานริมถนน
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในระหว่างการปฏิบัติงานของพนักงานกวาดถนน รวมถึงพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่บนทางเท้า ถนน หรือในสถานที่เสี่ยง ดังนี้ (1) จ้างเหมารถกวาดถนนให้ทำความสะอาดผิวจราจรในพื้นที่ 50 เขต และให้พนักงานกวาดเก็บเฉพาะในส่วนที่รถกวาดเข้าไม่ถึง หรือมีความเสี่ยง เช่น ในจุดที่มีรถยนต์ หรือรถเข็นจอดกีดขวางและบนทางเท้า โดยให้เข้าไปทำความสะอาดในตรอก ซอย แทน (2) ขอให้ผู้ควบคุมงานจัดทำสัญลักษณ์ อาทิ ตั้งวางกรวย หรือให้สัญญาณไฟ เพื่อแสดงให้ผู้สัญจรไปมาทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงาน และ (3) ปรับปรุงชุดเครื่องแบบที่สวมใส่ให้มีแถบสะท้อนแสงทั้งที่เสื้อและกางเกงให้เห็นเด่นชัด เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์สังเกตเห็นได้ในระยะไกล ขณะเดียวกันได้กำหนดจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารสำนักงานเขต พนักงานกวาด พนักงานเก็บขยะ และพนักงานสวนสาธารณะ เพื่อเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย
นอกจากนั้น ยังได้หารือแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเพิ่มเติม เช่น การพิจารณางดให้พนักงานกวาดปฏิบัติหน้าที่ในจุดที่มีความเสี่ยงสูง โดยให้ใช้รถกวาดเข้าปฏิบัติงานแทนในช่วงเช้ามืดและช่วงค่ำ รวมทั้งให้ปฏิบัติงานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เน้นย้ำพนักงานกวาดทุกคนให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังเรื่องรถและยานพาหนะประเภทต่าง ๆ รวมทั้งภัยพิบัติและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ขณะเดียวกันได้ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจจุดเสี่ยง แสงสว่าง และสภาพผิวจราจร สภาพถนนที่ไม่มีทางเท้าและแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มแสงสว่างและปรับปรุงผิวจราจร พร้อมทั้งขอความร่วมมือสำนักงานเขตให้พนักงานกวาดเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ไม่มีทางเท้าในช่วงสาย ซึ่งมีแสงสว่างเพียงพอ โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในจุดเสี่ยงในช่วงเช้ามืดและหัวค่ำ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่ง ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลภาพจากระบบกล้อง CCTV กับพนักงานสอบสวนอย่างต่อเนื่องทั้งการให้บริการที่ศูนย์ CCTV ของ กทม.ทั้ง 13 แห่ง ขณะเดียวกันได้เชื่อมโยงระบบกล้อง CCTV ของ กทม.ให้สามารถเปิดดูภาพได้ที่ สน.ทุกแห่งและกองบังคับการตรวจนครบาลทั้ง 9 แห่ง และในอนาคตมีแผนที่จะขอความร่วมมือภาคประชาชนที่ติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณหน้าอาคาร หรือบ้านเรือน ให้เชื่อมโยงไปยัง สน.เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนและเมื่อมีเหตุการณ์อาชญากรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นสามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็ว
กทม.จัดหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพประชาชน แจกจ่ายยารักษาโรคที่มากับน้ำท่วม
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังว่า สำนักอนามัย โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้ดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขัง โดยจัดหน่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้บริการด้านสุขภาพ แจกจ่ายยารักษาโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู (โรคเลปโตสไปโรซิส) โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง โรคไข้เลือดออก อุบัติเหตุ และการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อขอรับยาได้ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง