กทม.บูรณาการความร่วมมือเดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้ขับเคลื่อนการทำงานด้านยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด กทม. จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยาเสพติดให้โรงเรียนในสังกัด เช่น โครงการครูตำรวจ (ครู D.A.R.E.) จัดกิจกรรมให้การศึกษาต่อต้านการใช้ยาเสพติดแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โครงการโรงเรียนกรุงเทพมหานครปลอดยาเสพติด สนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัด กทม.มีครูและนักเรียนแกนนำ ดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUNBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน โดยร่วมกับสำนักอนามัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเขต และโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็ง การดำเนินงานชมรม TO BE NUNBER ONE 437 โรงเรียน และศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น
นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคมร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE โดยมีการจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชนครบทั้ง 50 เขต จำนวน 203 ชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ประสานงาน ให้คำแนะนำ ส่งเสริมและสนับสนุนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชน และส่งชมรมฯ เข้าร่วมประกวดการนำเสนอผลงานชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชนกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างกระแสค่านิยมและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจในกลุ่มเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พัฒนาศักยภาพและคุณภาพเยาวชนให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตนเอง สนับสนุนเยาวชนและชุมชนให้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยการสนับสนุนของสังคม สร้างความเข้าใจและยอมรับผู้มีปัญหายาเสพติด ให้โอกาสกลับมาเป็นคนดีของสังคม และเผยแพร่ความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มประชาชนและเยาวชนทั่วไป ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการกองทุนแม่ของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 – 2565 เพื่อขยายพลังแห่งความดีของคนในชุมชนให้กว้างขวางขึ้น เสริมสร้างกระบวนการในชุมชนทั้งด้านความคิด ความรู้ การรวมกลุ่ม การตื่นตัว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด เพื่อให้ชุมชนใช้กระบวนการดังกล่าวให้บรรลุถึงความเข้มแข็ง สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ สนับสนุนให้คนทำความดีและเสียสละเพื่อชุมชน สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ปัญหาพื้นฐานของชุมชนลดลง ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างยั่งยืน และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนทั้งภายในและระหว่างชุมชน โดยมีชุมชนได้รับพระราชทานเงินขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน 1,018 ชุมชน
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจะรับผู้สิ้นสุดการบำบัดรักษาที่สมัครใจและส่งต่อจากสถานพยาบาล สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การให้การสงเคราะห์ต่าง ๆ ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา ทุนประกอบอาชีพ การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนติดตามดูแลช่วยเหลือให้กลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
กทม.เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่อยู่ในความดูแลของ กทม.ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสูงสุดสำหรับเด็กนักเรียนและสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองว่า สำนักการศึกษา ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยมีหนังสือแจ้งมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด กทม.ให้โรงเรียนในสังกัดทราบ ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัดทุกโรงเรียนต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง มีการตรวจตราบุคคลผ่านเข้า-ออกในแต่ละวัน ให้สำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียนสังกัด กทม.
นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม ได้ประสานแจ้งเน้นย้ำแผนการเฝ้าระวังภัยกรณีเกิดเหตุอันตรายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนกรุงเทพฯ โดยขอให้เข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังเหตุ จัดจุดรับ – ส่ง เด็กตอนเช้าและหลังเลิกเรียนให้อยู่ภายนอก มีมาตรการตรวจสอบผู้ปกครองที่รับ – ส่ง เด็ก แต่งตั้งครูเวรประจำวัน และดูแลความปลอดภัยระหว่างวัน เพื่อไม่ให้บุคคลคนนอกเข้ามา รวมทั้งกำชับให้ซักซ้อมแผนอพยพกรณีเกิดเหตุ เพื่อเคลื่อนย้ายเด็กและอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กให้อยู่ในที่ปลอดภัย และจัดเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือเครือข่ายผู้ปกครอง คณะกรรมการชุมชน เจ้าหน้าที่เทศกิจ และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ตรวจตราความปลอดภัย เพื่อสร้างความอุ่นใจ พร้อมทั้งจัดทำแหล่งข้อมูลที่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ มีการรายงานสิ่งผิดปกติให้หน่วยงานทราบ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก เด็ก ผู้ปกครอง และคณะกรรมการชุมชน เช่น การสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณก่อนเกิดเหตุ การฝึกซ้อมตามแผนอพยพ การมอบหมายหน้าที่ที่ชัดเจนเมื่อเกิดเหตุ เป็นต้น
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า สำนักเทศกิจ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยและการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งในช่วงก่อนเวลาเข้าเรียนและหลังเวลาเลิกเรียน รวมถึงกวดขันพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณหน้าโรงเรียน โดยประสานสำนักงานเขตพื้นที่และสำนักพัฒนาสังคม กทม. เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจชุดสายตรวจเพิ่มการตรวจตราดูแลความเรียบร้อยของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่รับผิดชอบให้เข้มข้นขึ้น รวมทั้งพูดคุยสอบถามผู้ดูแลศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมพิจารณาซักซ้อมแผนเผชิญเหตุให้ศูนย์ฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ สามารถประสานแจ้งเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่ต่อไป
เขตบางนาประสานแขวงทางหลวงสมุทรปราการซ่อมฝาตะแกรงระบายน้ำถนนเทพรัตนที่ชำรุด
นางสาวโศรยา วัธชนะ ผู้อำนวยการเขตบางนา กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ กทม.ที่พลัดตกตกตะแกรงระบายน้ำใกล้กับปั๊มแก๊สแอลพีจีบริเวณซอยบางนา – ตราด 11 กรุงเทพฯ ได้รับบาดเจ็บขณะเตรียมปฏิบัติหน้าที่ว่า สำนักงานเขตบางนา ได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของฝาตะแกรงระบายน้ำ พบว่าฝาตะแกรงระบายน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นรูปแบบของเอกชนอยู่บนถนนทางเข้าบริษัทเอกชนระหว่างซอยบางนา-ตราด 11 และซอยบางนาตราด 13 ใช้ระบายน้ำจากซอยส่วนบุคคลออกสู่บ่อพักท่อระบายน้ำถนนเทพรัตน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงสมุทรปราการ มีขนาดกว้าง 25 เซนติเมตร ความลึก 60 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างช่องตะแกรงรับน้ำ 5 เซนติเมตร โดยบริเวณที่เกิดเหตุฝาตะแกรงรับน้ำชำรุด 1 ช่อง ทำให้เกิดช่องว่าง 10 เซนติเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานแขวงทางหลวงสมุทรปราการตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงของฝาตะแกรงระบายน้ำที่เชื่อมกับบ่อพักท่อระบายน้ำถนนเทพรัตนและดำเนินการแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับปรุงมาตรฐานฝาท่อระบายน้ำในพื้นที่ สำนักงานเขตฯ ได้ใช้รูปแบบฝาบ่อพักรางวี ชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กผสมตะแกรงเหล็ก ตามแบบ มนท.-01 ตามแบบมาตรฐานงานทางกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 ซึ่งมีความมั่นคงแข็งแรงและเป็นไปตามหลักวิศวกรรม
สำหรับเจ้าหน้าที่ กทม.ที่ได้รับบาดเจ็บ สำนักงานเขตฯ ได้ช่วยเหลือพร้อมนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสิรินธร อาการเบื้องต้นพบแผลถลอกและเคล็ดขัดยอกเล็กน้อย ผลการเอ็กเรย์ (X-RAY) ไม่พบอาการผิดปกติของกระดูก ปัจจุบันออกจากโรงพยาบาลสิรินธรกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านพักแล้ว