กทม.เตรียมเก็บข้อมูลพนักงานกวาดทดลองสวมชุดสะท้อนแสง พร้อมปรับปรุงให้เหมาะสมก่อนปรับใช้เป็นเครื่องแบบ
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงความเป็นมาของชุดพนักงานกวาดถนนแบบใหม่ที่เป็นชุดสะท้อนแสงว่า ชุดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการต่อยอดความสำเร็จโครงการ “แยกขวดช่วยหมอฝาก กทม.ก็ได้นะ” ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ในปี 2564 โดยรับบริจาคขวดพลาสติกใส (PET) เพื่อนำไปผลิตชุด PPE ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก หลังสิ้นสุดโครงการจึงได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by GC และ Z-Safe ขยายผลเป็นโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” นำขยะพลาสติกขวด PET ใสเบอร์ 1 กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปเป็นชุดปฏิบัติงานที่มีแถบสีสะท้อนแสงตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดย 1 ชุด ใช้ขวด PET ขนาด 600 มล. จำนวน 42 ขวด และค่าผลิต 900 บาท มีเป้าหมายดำเนินการระยะแรก 1,000 ชุด สำหรับ 50 เขต เขตละ 20 ชุด โดยปรับเพิ่มในส่วนของสำนักงานเขตดินแดงให้ครบตามจำนวนพนักงานกวาดทุกคน เพื่อทดลองเต็มพื้นที่เขตจำนวน 200 คน รวม 1,180 ชุด
สำหรับผลการดำเนินงานโครงการฯ ขณะนี้ได้รับบริจาคขวด PET จำนวน 3,182.3 กิโลกรัม เพียงพอสำหรับการผลิตชุดสะท้อนแสง 1,180 ชุด พร้อมทั้งส่งมอบชุดปฏิบัติงานสะท้อนแสงให้พนักงานกวาดเขตดินแดงแล้วจำนวน 200 ชุด เริ่มใช้ในการปฏิบัติงาน ทดลองสวมใส่ 3 วัน/สัปดาห์ ในวันจันทร์ พุธ และวันศุกร์ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมจะจัดเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้สวมใส่ชุดสะท้อนแสง รวมถึงผู้สัญจรผ่านไปมาในพื้นที่เขตดินแดง เพื่อนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น เบื้องต้นมีเสียงสะท้อนทั้งบวกและลบ เช่น สีสะท้อนแสงได้ดีมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกลทั้งกลางวันและกลางคืน สวมใส่สบาย แต่เนื้อผ้าค่อนข้างบาง ต้องสวมเสื้อรองพื้นซึ่งอาจทำให้ร้อน ขาดกระเป๋าใส่ของติดตัวระหว่างปฏิบัติงาน เปื้อน หรือสกปรกได้ง่าย เนื่องจากเป็นสีอ่อน ซึ่งจะได้หารือกับผู้ผลิตในการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนดำเนินการผลิตในส่วนที่เหลือ เพื่อส่งมอบให้กับอีก 49 เขต เพื่อทดลองใช้พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้สวมใส่และประชาชนผู้สัญจรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะนำผลการประเมินเสนอผู้บริหาร กทม. พิจารณาความเหมาะสมในการปรับเป็นเครื่องแบบพนักงานกวาดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังสามารถบริจาคขวดพลาสติกใส รวมถึงพลาสติกทุกชนิดเข้าสู่โครงการฯ เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลโดยสามารถบริจาคได้ 52 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วยศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้าและดินแดง สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้ทุกวัน
เขตจตุจักรแจงหลังติดตั้งเสากั้นป้องกัน จยย.ขับขี่บนทางเท้าพบประชาชนร้องเรียนลดลง
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพเสากั้นป้องกันรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า บริเวณหน้าคอนโดมีเนียมเดอะรูม ถนนลาดพร้าว กีดขวางทางสัญจร ว่า บริเวณถนนลาดพร้าวมีประชาชนร้องเรียนเรื่องการฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าหลายจุด โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนและเวลากลางคืน สำนักงานเขตฯ จึงประสานสำนักการโยธา กทม. ร่วมพิจารณาออกแบบอุปกรณ์ติดตั้งเสากั้นป้องกันรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าที่มีความทันสมัย คงทนแข็งแรง และคำนึงถึงความเหมาะสมการใช้ทางเท้าของประชาชน รวมถึงผู้พิการให้สามารถผ่านช่องทางดังกล่าวได้ โดยติดตั้งเสานำร่องบริเวณซอยลาดพร้าว 32-34 ซึ่งเป็นจุดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด หลังจากติดตั้งเสากั้นแล้วไม่มีการร้องเรียนและยังส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้ทางเท้า อย่างไรก็ตาม การติดตั้งเสาเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้วเสร็จจะถอนเสาดังกล่าวออกโดยเร็ว ขณะเดียวกันได้แก้ไขสัญลักษณ์ช่องทางผ่านเข้า-ออกบนทางเท้าสำหรับผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเฝ้าระวังเข้มงวดกวดขันจับปรับผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้ง ลดปัญหาการร้องเรียนของประชาชน
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า สำนักเทศกิจได้ดำเนินการตามโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้า โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันมิให้ฝ่าฝืนขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าตามถนนต่าง ๆ รวมทั้งตั้งจุดจับ – ปรับบริเวณที่มีการฝ่าฝืนจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือน ก.ค.61 – 6 ต.ค.65 จับกุมผู้ฝ่าฝืน 43,676 ราย ปรับเป็นเงิน 47,731,000 บาท และหากผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย หรือเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับบาดเจ็บ หรือหากต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด พร้อมทั้งส่งเรื่องให้สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ดำเนินคดีอาญาอีกข้อหาหนึ่งด้วย
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการจัดระเบียบเมือง รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม.กับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดทันที ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ www.bangkok.go.th/reward เพจเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ หรือแจ้งโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ทุกสำนักงานเขต จากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้มากขึ้น
กทม.แก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนนอุดมสุข-เร่งรัดโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนอุดมสุขและความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนว่า สำนักการระบายน้ำได้ตรวจสอบระบบระบายน้ำและล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจปริมาณดินเลนในท่อระบายน้ำ ระบบระบายน้ำและดูแลบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่บ่อสูบน้ำซอยสุขุมวิท 66/1 ให้พร้อมใช้งานและสามารถสูบน้ำได้ตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสุขุมวิท 103 และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ในปี 2565 กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำตลอดทั้งเส้นทาง คาดจะดำเนินการได้ภายในปี 2565
สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วร้อยละ 94.81 ล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ.65 เกิดเหตุอุโมงค์ช่วงสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุดตัวระยะทางประมาณ 100 เมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือวิธีการแก้ไข เนื่องจากอุโมงค์ดังกล่าวอยู่ที่ระดับความลึก 30 เมตร และเป็นปัญหาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและดูตัวอย่างการแก้ไขจากต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก คาดอาจจะต้องใช้ระยะเวลาแก้ไขประมาณ 2 ปี ดังนั้น เพื่อช่วยระบายน้ำในพื้นที่ช่วงก่อนการซ่อมแซมอุโมงค์คลองเคล็ดแล้วเสร็จ ผู้รับจ้างได้มีมาตรการการระบายน้ำเมื่อเกิดฝนตกในพื้นที่ ด้วยการเปิดช่องรับน้ำบริเวณอาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3 อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 อาคารรับน้ำสุขุมวิท 101/1 และอาคารรับน้ำสุขุมวิท 66/1 ให้น้ำลงอุโมงค์และจะสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อให้ระบายออกสู่คลองบางอ้อและสถานีสูบน้ำคลองบางอ้อจะสูบน้ำระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป