กทม.เล็งหารูปแบบการจัดบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและเป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.เพิ่มนโยบายให้ผู้หญิงเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยว่า ที่ผ่านมาสำนักอนามัย ได้ดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน ได้แก่ การให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ เช่น เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต สอนการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิวัยรุ่น ให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้เข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสวัสดิการสังคม โดยดำเนินการในสถานศึกษา ชุมชน และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เช่น คลินิกวัยรุ่น คลินิกฝากครรภ์ คลินิกวางแผนครอบครัว เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์หากยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตาม หากตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อม สามารถติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วน 1663 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันมีสถานพยาบาลให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในกรุงเทพฯ ได้แก่ คลินิกเวชกรรม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สาขากรุงเทพฯ สุขุมวิท 12 คลินิกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.) สาขาบางเขน และสาขาปิ่นเกล้า และคลินิกวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลคลองตัน ส่วนการจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ให้สถานพยาบาลสังกัด กทม.ผู้บริหาร กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยร่วมกันหารือรูปแบบการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความปลอดภัยสูงสุดและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้ดำเนินแนวทาง การยุติการตั้งครรภ์ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ก.พ.2564 ซึ่งผู้หญิงจะได้รับสิทธิให้ยุติการตั้งครรภ์ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้ อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ผู้หญิงมีสิทธิยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่เป็นความผิดทางอาญา นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น (ตามกฎหมายที่ให้คำปรึกษาหญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ต้องได้รับการอบรมจากกรมอนามัย ซึ่งหลังจากนี้ได้กำหนดเวลาขึ้นทะเบียนไว้ 1 ปี) อาทิ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ ภาคเอกชน องค์การนอกภาครัฐ (NGO)
นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ หากจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจ จำเป็นต้องทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมาก หรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่า หากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง ในส่วนของมาตรา 301 หากการยุติการตั้งครรภ์ขณะมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่ได้ทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนต้องการคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งการยุติการครรภ์อย่างปลอดภัย สามารถปรึกษาทางเลือกท้องไม่พร้อมและยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ที่สายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 หรือแฟนเพจเฟซบุ๊ก 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เว็บไซต์เครือข่ายส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย RSA ที่ http://abortion.rsathai.org กลุ่มทำทาง แอดไลน์ที่ @tamtang วีเมนเฮลท์วีเมน womanhelpwomen : อีเมล [email protected] หรือ womenhelp.org และศูนย์ให้คำปรึกษา/คลินิกเวชกรรม สวท.กรุงเทพฯ ดินแดง โทร.02 245 1888, 02 245 7382 – 4 บางเขน โทร.02 941 2320 ต่อ 181 – 182 ปิ่นเกล้า โทร.02 433 9077, 02 433 3503 และ 02 433 6561
กทม.เร่งปรับปรุงซ่อมแซมสะพานลอยคนข้ามปากซอยเพชรเกษม 62
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณปากซอยเพชรเกษม 62 เขตภาษีเจริญ ชำรุด เกรงจะเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรว่า สำนักการโยธา ได้ตรวจสอบสะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณปากซอยเพชรเกษม ๖๒ เขตภาษีเจริญ พบว่าคอนกรีตหุ้มผิวเหล็กของโครงสร้างบันได (Concrete Covering) มีลักษณะแตกร้าว มีชิ้นส่วนเศษปูนและเศษหินร่วงหล่นลงมาด้านล่าง เนื่องจากคอนกรีตเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ส่วนการตรวจสอบสภาพโครงสร้างสะพานโดยรวมพบว่า ยังมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่พบการทรุดตัว อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำนักการโยธาได้ปิดล้อมบริเวณด้านล่างและซ่อมบำรุงสะพานลอยดังกล่าวโดยเร่งด่วนแล้ว
ทั้งนี้ สำนักการโยธาได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบและปรับปรุงซ่อมแซมสะพานลอยคนเดินข้าม สะพานข้ามทางแยก ทางลอดรถยนต์ ผิวจราจร และทางเท้าเป็นประจำตามวงรอบทุก 15 วัน พร้อมสรุปผลการตรวจสอบและจัดทำแผนการซ่อมสะพานลอยคนเดินข้าม สะพานข้ามทางแยก ทางลอดรถยนต์ ผิวจราจร และทางเท้า ขณะเดียวกันได้ดำเนินการโครงตรวจงานสำรวจตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสะพานคนเดินข้ามของ กทม.ทั้งหมด โดยจัดทำแผนการปรับปรุงซ่อมแซมตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งสะพานลอยคนเดินข้ามดังกล่าวอยู่ในแผนดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเร่งด่วนของสำนักการโยธาเรียบร้อยแล้ว
กทม.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในซอยพัฒนาการ 65 เขตประเวศ พร้อมหาแนวทางป้องกันระยะยาว
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีประชาชนในซอยพัฒนาการ 65 โซน 3 เขตประเวศ ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมขัง โดยกังวลถึงสาเหตุที่น้ำไม่ระบายอาจมาจากกระสอบทรายที่นำไปอุดไว้ว่า สำนักการระบายน้ำ ได้ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านเมืองทองการ์เด้น พบว่าด้านทิศตะวันตกติดคลองบ้านม้า ทิศใต้ติดคลองประเวศบุรีรมย์ ทิศตะวันออกติดคลองมอญ และมีทะเลสาบที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางบำบัดน้ำเสีย จำนวน 3 บึง ซึ่งได้เร่งระบายน้ำในคลองโดยเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ทำให้น้ำในคลองมีระดับสูงขึ้น โดยขณะเกิดฝนตกในพื้นที่ สำนักการระบายน้ำได้ลดระดับประตูระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ก่อน นอกจากนั้น ยังได้ก่อสร้างทำนบไม้กั้นน้ำชั่วคราวบริเวณคลองมอญและบริเวณลำรางที่เชื่อมระหว่างคลองมอญกับคลองประเวศ เพื่อกั้นไม่ให้น้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ไหลเข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านเมืองทองการ์เด้น ปัจจุบันระดับน้ำลดต่ำลงเกือบเข้าระดับควบคุมแล้ว ส่วนมาตรการระยะเร่งด่วน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณทางลงคลองบ้านม้า โดยมีประชาชนและประธานชุมชนเป็นผู้ดูแลเครื่องสูบน้ำ สำหรับในระยะยาว ได้สำรวจออกแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่โดยเร่งด่วน
ส่วนข้อกังวลถึงสาเหตุที่น้ำไม่ระบายอาจมาจากกระสอบทรายที่นำไปอุดไว้นั้น ได้ตรวจสอบท่อระบายน้ำในซอยพัฒนาการ 65 พบว่า ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำลงสู่คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำหลัก แต่ที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่อเนื่องทั้งในพื้นที่เขตประเวศ ลาดกระบัง มีนบุรี และเขตหนองจอก ส่งผลทำให้ระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์สูงขึ้นและเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้งนี้ ไม่พบกระสอบทรายอุดกั้น แต่ยังมีน้ำขังเป็นแอ่งบางจุด หากไม่มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มเติม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม การพร่องน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จะใช้สถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นสถานีสูบน้ำหลักในการเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาส่วนรอยต่อพื้นที่ระหว่างกรุงเทพฯ ตอนปลายคลองประเวศบุรีรมย์ ขณะที่กรมชลประทานจะช่วยเร่งระบายน้ำไปยังสถานีสูบน้ำท่าถั่วลงสู่แม่น้ำบางปะกงและทางด้านล่างคลองประเวศบุรีรมย์ ได้ระบายไปยังคลองชายทะเลแล้วสูบออกลงสู่อ่าวไทย