กทม.เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 7 ต.ค.นี้ พร้อมตรวจสอบความแข็งแรงแนวคันกั้นน้ำ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวกรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่ 1 - 7 ต.ค.65 ว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัย จัดเตรียมยานพาหนะ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย ประจำจุดเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและพื้นที่ที่ได้เคยได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ ขณะเดียวกันได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง หากประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า สำนักการระบายน้ำ มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ รวมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้แข็งแรงและมีความสูงเพียงพอสำหรับป้องกันน้ำท่วม จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น จัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย สร้างสะพานทางเดินชั่วคราว ให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมรับทราบการขึ้นลงของน้ำเป็นระยะ ๆ ตามตารางน้ำขึ้น - น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ นอกจากนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่จุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ความยาว 87.93 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของ กทม. ความยาว 79.63 กม. มีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ +2.80 ม.รทก.ถึง +3.50 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ได้ที่ปริมาณ 2,500 - 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชน ความยาว 8.30 กม. เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า บางแห่งมีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม.จะจัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยปัจจุบันได้เรียงแนวกระสอบทรายแล้วเสร็จความยาว 2.918 กม. ความสูงตั้งแต่ +2.40 ม.รทก.ถึง+ 2.70 ม.รทก. สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมทั้ง 16 ชุมชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่าน กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่ากำชับและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนเหล่านี้ ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงช่องทางการแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม.ได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ และแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านสายด่วน กทม.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue มายังสำนักการระบายน้ำ
กทม.แจงการจัดซื้อถังขยะทดแทนที่ชำรุด กำหนดแนวทางตั้งถังขยะในที่สาธารณะ
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกต กทม.จัดซื้อถังขยะเป็นประจำทุกปี แต่เหตุใดถังขยะที่ตั้งวางในพื้นที่สาธารณะกลับลดลงว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดหาถังรองรับมูลฝอยประเภทต่าง ๆ หลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและสถานที่ตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่เป็นถังพลาสติกชนิดล้อเลื่อนแบบมีฝาปิด ขนาด 80 ลิตร 130 ลิตร และ 240 ลิตร ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักงานเขตสำรวจความต้องการถังรองรับมูลฝอยประเภทต่าง ๆ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณจัดซื้อถังขยะให้เพียงพอสำหรับการทิ้งขยะบริเวณถนนซอย ชุมชน และสวนสาธารณะ ส่วนหนึ่งเป็นการซื้อทดแทนถังขยะเดิมที่ชำรุด เนื่องจากหมดอายุการใช้งานและบางส่วนเพิ่มเติม เพราะขยะของชุมชนเพิ่มขึ้น สำหรับการตั้งวางถังขยะ ได้กำหนดให้ตั้งถังขยะทั่วไปในชุมชน ตรอก และซอยตลอดเวลาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ส่วนบริเวณทางเท้าถนนสายหลักและถนนสายรองจะไม่ตั้งถังรองรับขยะสำหรับอาคารบ้านเรือน หรือร้านค้า เนื่องจากจะมีปัญหาขยะล้นถังและถังขยะจำนวนมากบนทางเท้า จะสร้างความสกปรก ซึ่งสำนักงานเขตได้ออกประกาศสำนักงานเขตกำหนดวันและเวลาทิ้ง เพื่อแจ้งประชาชนและผู้ค้าริมถนน นัดเวลาทิ้งนัดเวลาเก็บ โดยทั่วไปนัดทิ้งเวลา 18.00 - 01.00 น. และเก็บให้เสร็จก่อนเวลา 05.00 น.ทุกวัน ในช่วงเวลากลางวันประชาชน หรือผู้ค้าจะมีถังขยะตั้งวางในพื้นที่ของตนเองสำหรับทิ้งขยะของตนเอง หรือบริการลูกค้า และรอทิ้งในช่วงเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า การตั้งถังขยะบนทางเท้า มักจะมีการนำขยะจากบ้านเรือนมาทิ้งนอกเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะช่วงกลางวัน ทำให้เกิดปัญหาขยะปริมาณมาก การจัดเก็บทำได้ยาก เนื่องจากกระทบกับปัญหาจราจร และสร้างความเดือดร้อนให้อาคารร้านค้าที่มีถังขยะตั้งอยู่ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่บ้านเรือนอยู่ริมถนนไม่ประสงค์ให้ตั้งวางถังขยะบนทางเท้าหน้าบ้าน เนื่องจากก่อให้เกิดความสกปรกและส่งผลกระทบต่อการค้าขายและธุรกิจบริการต่าง ๆ ทั้งนี้ กทม.ได้จัดให้มีถังขยะบนทางเท้าในจุดที่เหมาะสมและไม่ก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนริมถนนและไม่สร้างมลทัศน์ทางสายตาโดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งประชาชนสามารถทิ้งขยะในสถานที่ที่ตนเข้าใช้บริการได้ทุกแห่ง