กทม.ตรวจ RT-PCR ให้ประชาชนในสถานที่เสี่ยงเป็นระยะ พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิดทั้งที่บ้านและชุมชน
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกรุงเทพฯ ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 8 พื้นที่เฝ้าระวังในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือพื้นที่เฉพาะ (Sentinel Surveillance) ว่า การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในจังหวัดต่าง ๆ รวม 8 จังหวัด ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือพื้นที่เฉพาะประกอบด้วย กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ ตาก อุดรธานี สระแก้ว สงขลา และชลบุรี เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้เคยมีความเสี่ยงสำคัญ เช่น จังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดชายแดน กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย จึงได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในตลาด สถานบันเทิง สถานดูแลผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล โดยการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR ให้ประชาชนในสถานที่ดังกล่าวเป็นรอบ ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด 19 สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 – 16 ต.ค.65 เข็มที่ 1 จำนวน 10,010,446 โดส ครอบคลุมร้อยละ 119.01 เข็มที่ 2 จำนวน 9,326,778 โดส ครอบคลุมร้อยละ 110.88 และเข็มที่ 3 จำนวน 5,915,604 โดส ครอบคลุมร้อยละ 70.33 อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ยังเดินหน้าประชาสัมพันธ์การให้บริการวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 รวมถึงบริการฉีดวัคซีนทั้งที่บ้านและในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว
กทม.เข้มงวดตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคาร/สถานประกอบการ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารและสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันอันตรายจากเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้ตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารและสถานประกอบการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือเจ้าของอาคารและสถานประกอบการเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารและสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปลัดกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและตรวจสอบสถานบริการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเป็นประจำทุกเดือน พร้อมรายงานผลภายในวันที่ 5 ของเดือน และสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการกับอาคารและสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงจากอัคคีภัยตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
กทม.พร้อมเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส RSV ในเด็กและผู้สูงอายุ
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีแพทย์เตือนระวังสถานการณ์โรคไวรัส RSV ระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัส RSV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเตรียมการให้บริการรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ และไม่มีวัคซีน โดยการรักษาตามอาการ คือ พ่นยา ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำยาลดไข้ พร้อมจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรค ตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ตรวจวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือให้ประชาขนที่มารับบริการที่ รพ. รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่และชมรมผู้สูงอายุของ รพ.ในสังกัดทุกแห่ง กำหนดมาตรการรักษาและวินิจฉัยโรค พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมและรักษาโรคไวรัส RSV เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวภายในศูนย์เด็กเล็กฯ และชมรมผู้สูงอายุฯ ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิทุกคนก่อนเข้าไปภายในศูนย์เด็กเล็กฯ และชมรมผู้สูงอายุฯ หากพบผู้ป่วยภายในศูนย์เด็กเล็กฯ และชมรมผู้สูงอายุฯ ด้วยโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภายในบริเวณศูนย์เด็กเล็กฯ และชมรมผู้สูงอายุฯ ทันที ทั้งนี้ เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มักระบาดมากในช่วงเดือน ก.ค. – ม.ค. เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อ RSV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย หรือสารคัดหลั่งจากปาก จมูก และลมหายใจผู้ป่วย ขณะเดียวกันสำนักการแพทย์ ได้รณรงค์ให้ความรู้การเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของบุตรหลานจากโรคที่พบบ่อยในช่วงปลายฤดูฝน-ต้นฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV โดยเน้นให้ผู้ปกครองระมัดระวัง ดูแลสังเกตอาการไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก บางรายอาการหนัก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หากมีอาการดังกล่าวให้พบแพทย์ และห้ามให้เด็กเล็กที่ป่วยเป็นหวัดเข้าใกล้ผู้สูงอายุ เนื่องจากหากผู้สูงอายุติดเชื้อ RSV จะมีอาการป่วยมากกว่าเด็กเล็กหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในบุตรหลานได้ โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาด แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ทำความสะอาดบ้านและของเล่นเด็กอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ หลีกเลี่ยงการพาเด็กเข้าไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัด หรือในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ เนื่องจากเด็กที่สูดดมควันบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV และมีอาการรุนแรงมากกว่า ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ หากสงสัยมีอาการป่วยเข้าข่าย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจรักษาได้ทันที หรือสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของ รพ.สังกัด กทม.ให้บริการเชิงรุก โดยให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนและเครือข่าย เผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านเว็บไซต์ รพ.และสำนักการแพทย์ และ Facebook Fanpage : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้วิธีดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของบุตรหลาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV และการป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาว ซึ่งการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ไม่ต่างจากการป้องกันเชื้อไวรัสอื่นและเชื้อโควิด 19 คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสจมูก ปาก ตา หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือสัมผัสผู้ป่วย ทำความสะอาดของเล่นเด็ก อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สะอาด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด หยุดเรียน หยุดงานเมื่อป่วย และอย่าให้เด็กเล็กที่ป่วยเป็นหวัดเข้าใกล้ผู้สูงอายุ
สำหรับแนวทางป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ในสถานศึกษาสังกัด กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.ได้จัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วยก่อนเข้าสถานศึกษา หากพบว่ามีนักเรียนป่วย อาจพิจารณาปิด/เปิดสถานศึกษา เพื่อชะลอการระบาดของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง การจัดการภายในสถานศึกษา จัดเตรียมจุดล้างมือให้พร้อม ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วม จัดเตรียมหน้ากากอนามัย หากสถานศึกษามีรถรับส่งควรทำความสะอาดภายในรถสม่ำเสมอ ส่วนในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ กำหนดให้จำกัดช่องทางเข้าอาคาร มีจุดคัดกรองความเสี่ยงและมีอุปกรณ์ทำความสะอาดมือเพียงพอ งดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม หรือจัดกิจกรรม จัดเตรียมอาหารปรุงสุกสะอาดแยกสำรับเฉพาะบุคคล ไม่ใช้ภาชนะและช้อนส้อมร่วมกัน ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางเป็นประจำ มีหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้ใช้อย่างเพียงพอ วัดอุณหภูมิ และสำรวจอาการผิดปกติของผู้สูงวัยและบุคลากรทุกวัน ลดความถี่การหมุนเวียนบุคลากรให้น้อยที่สุด จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้ผู้สูงวัย เช่น การออกกำลังกายและกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม ได้ประสานศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีดูแลสุขภาพและสังเกตอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และระมัดระวังการแยกผู้ที่มีอาการออกจากกลุ่ม เพื่อป้องกันการติดต่อ การดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับโรคจากเชื้อไวรัส RSV และโรคในระบบทางเดินหายใจ หากมีผู้ป่วยจะประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้การดูแล นอกจากนั้น ยังได้ประสานสำนักอนามัย กทม.ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรคติดต่อและภัยที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว อาทิ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก พร้อมแนวทางป้องกันและดูแลรักษาเบื้องต้น รวมทั้งกำชับให้หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดให้มีอ่างล้างมือและรักษาความสะอาดห้องน้ำอย่างถูกวิธี