จากข้อมูลเด็กไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์สูงถึงร้อยละ 20 โดยมีสัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ดีแทคร่วมกับกรุงเทพมหานคร กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ตำรวจไซเบอร์ (TICAC-CCIB) เดินสายให้ความรู้เด็กนักเรียนสังกัดกทม. ตั้งเป้าพัฒนาความรู้ครอบคลุมนักเรียนระดับประถมปลายทั่วประเทศภายใต้โครงการ ดีแทค Safe Internet
โดยเมื่อไม่นานนี้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการอบรม “BMA x dtac Safe Internet School Tour” ที่โรงเรียนคลองทวีวัฒนา จัดอบรมนักเรียนชั้น ป.5-ป.6 ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยอินเตอร์เน็ต รณรงค์ “ไม่โชว์ ไม่แชะ ไม่แชร์” เกี่ยวกับทางเพศ และแนะนำหากตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้ที่ www.คลิปหลุดทำไง.com มีกิจกรรมให้น้องๆ เรียนรู้ในบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคในฐานะผู้บริการโทรคมนาคม ตระหนักถึงภัยออนไลน์ที่เกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ดังนั้น ภายใต้โครงการดีแทค Safe Internet จึงมุ่งส่งเสริมศักยภาพการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา ให้ความรู้เด็กและครูเกี่ยวกับความปลอดภัยและการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างรับผิดชอบ โดยร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2565 จัดทำหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้ในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยให้ความร่วมมือและริเริ่มการหยุดยั้งภัยดังกล่าว รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมและการมีส่วนร่วมของพลเมืองอินเทอร์เน็ตผ่านแคมเปญการสื่อสาร และจะขยายผลการอบรมให้ครอบคลุมนักเรียนชั้นป.5-6 ทั่วประเทศ เนื่องจากเราพบว่าช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เริ่มมี สมาร์ตโฟน เริ่มสนใจทางเพศ การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรับมือกับปัญหานี้เท่านั้น เพราะการจบปัญหานี้ยังคงต้องผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ช่วยกันสร้างความตระหนักในสังคม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบและตัดตอนได้ทันท่วงที
“เด็กมักเจอภัยเสี่ยงในโลกออนไลน์เสมออันดับต้นๆ ที่พบเจอคือเรื่องไซเบอร์บูลลี่ รองลงมาคือเรื่องเซ็กซ์ เมื่อเราเข้าไปพูดคุยกับน้องๆ เด็กๆ ไม่ทราบเลยว่าตัวเองเคยถูกล่อลวงทางออนไลน์ เช่น ถูกหลอกให้ส่งภาพเปลือย หลังจัดอบรมว่าเรื่องไหนถือว่าถูกล่อลวง เด็กๆ จำนวนมากตอบแบบสอบถามพบว่าเคยถูกล่อลวงทางโซเชี่ยลมาก่อน และส่วนใหญ่ด้วยวัยของเขาเมื่อมีปัญหาจะปรึกษาเพื่อน ไม่บอกผู้ปกครอง จึงให้ คำแนะนำว่าควรทำอย่างไรเมื่อเจอเหตุการณ์ดังกล่าว” นางอรอุมากล่าว
ด้าน พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน พบว่าสถิติ Cyber Tip สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด พบการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก เมื่อถูกหลอกลวงแล้วแนะนำว่าอย่าลบประวัติการพูดคุย อย่าปิดโซเชี่ยล อย่าอวดว่าแจ้งตำรวจแล้ว และอย่าปกปิดผู้ปกครอง
“จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า คนร้าย 1 คนสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน เด็ก 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและไม่เท่าเทียมทางรายได้ยังส่งผลให้เด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผลิตและเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอทางเพศด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิ่งของต่างๆ”พ.ต.อ.รุ่งเลิศกล่าว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดกทม. รวม 437 โรงเรียน ครอบคลุม 50 เขต นักเรียนรวม 261,160 คน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565 กรุงเทพมหานครร่วมมือกับ Dtac Safe Internet อบรมความรู้ด้านความปลอดภัยการใช้งานออนไลน์แก่เด็กนักเรียนอายุ 11-13 ปี (ป.5-6) จำนวน 50 โรงเรียน กว่า 10,000 คน ผ่านคาบเรียน “BMA x dtac Safe Internet School Tour”เพื่อให้มีองค์ความรู้และภูมิคุ้มกันต่อภัยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ เข้าใจกระบวนการและสามารถรับมือได้ทันท่วงที จากการจัดอบรมที่ผ่านมาพบว่านักเรียนร้อยละ 3 เคยถูกร้องขอ ข่มขู่หรือกดดันให้ส่งรูปภาพหรือทำพฤติกรรมทางเพศทางออนไลน์ ร้อยละ 13 เคยส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวให้คนแปลกหน้า และร้อยละ 3 เคยได้รับภาพ ข้อความหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาส่อไปทางเพศ โดยมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย เกมออนไลน์ รวมถึงแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ผู้ใหญ่ยังไม่คุ้นเคย
“ขณะนี้มีหลายภาคส่วนมาร่วมงานกับ กทม.จำนวนมาก เพื่อการเรียนการสอนของเยาวชน การเรียนการสอนนั้นไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน และเรื่องเกี่ยวกับภัยในอินเตอร์เน็ตเป็นความรู้ที่ไม่ใช่แค่มีประโยชน์กับเด็กเท่านั้น สามารถบอกต่อความรู้นี้กับครอบครัวหรือผู้อื่นได้ ไซเบอร์บูลลี่เป็นเรื่องสำคัญ ยุคสมัยนี้เด็กป่วยทางใจมากกว่าทางกาย การบูลลี่เป็นหนึ่งในเหตุผลนั้น กทม.จะบูรณาการต่อยอดเรื่องนี้ต่อไป” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
บรรยายใต้ภาพ
อรอุมา
พ.ต.อ.รุ่งเลิศ
ศานนท์
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 31 ม.ค. 2566