อาชีพวินมอเตอร์ไซค์ส่งผู้คนถึงที่หมาย ไรเดอร์ส่งของเป็นอาชีพสุจริตส่งเสริมรายได้เลี้ยงดูครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องเร่งรีบในการทำรอบให้ทันเวลา การส่งงานให้รวดเร็ว มีโอกาสสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต บาดเจ็บ ..ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดความสูญเสีย ครอบครัวล่มสลาย โอกาสไปต่อลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นสูญเสียโอกาสทั้งๆ ที่เป็นความหวังของทุกคนในครอบครัว
การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ขับขี่ปลอดภัย จึงเป็นทางเลือกและทางออกที่หลายฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน โดยเมื่อกลางเดือนมกราคมศกนี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) ร่วมกับ สสส., โรงเรียนทักษะพิพัฒน์, บริษัท โดยเอสซีจี สกิลส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.), บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด, ผู้แทนกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์และภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าว “ความร่วมมือเพื่อสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์” ที่ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร และประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของอาชีพใหม่ๆ ในการตอบสนองการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ หนึ่งในนั้นคือรถจักรยานยนต์รับส่งอาหาร หรือไรเดอร์ (Rider) ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยคือ การเกิดอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลศูนย์วิจัย ธ.กสิกรไทยแจงตัวเลขการบริการ Food Delivery ก่อนโควิดจำนวน 35-45 ล้านครั้ง ปี 2564 การสั่งอาหารเพิ่มขึ้น 120 ล้านครั้ง มากขึ้นถึง 3 เท่าตัวในเวลา 2 ปี
“กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและรับส่งอาหารมีพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ การขับขี่ที่ต้องรีบเร่งทำรอบในการรับส่งอาหารให้ทันตามความต้องการของลูกค้า การดูหน้าจอโทรศัพท์ขณะขับขี่ การไม่ชินเส้นทาง สภาพอากาศ และความเหนื่อยล้า รวมถึงเกิดจากพฤติกรรมขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย ขาดทักษะขับขี่เชิงป้องกันอุบัติเหตุ โดยเฉพาะทักษะคาดการณ์ประเมินความเสี่ยงเมื่อขับขี่ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ ถึงเวลาแล้วที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน แพลตฟอร์มต่างๆ และภาคประชาสังคม ในการยกระดับการทำงานสู่กลไกการขับเคลื่อน โดยมีอนุกรรมการด้านการจัดการความปลอดภัย ภายใต้ ศปถ.กทม.ขับเคลื่อนความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ มีระบบข้อมูลที่สามารถสะท้อนความเสี่ยงของอุบัติเหตุ ตลอดจนจัดให้มีการเรียนรู้เรื่องทักษะขับขี่ที่ปลอดภัย รวมถึงสื่อสารสาธารณะในเรื่องความเสี่ยง เพื่อเผยแพร่ความรู้การขับขี่ที่ปลอดภัย และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์” นายณรงค์กล่าว
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า เราต้องร่วมกันสานพลังการสร้างความตระหนักรู้ เมื่อวินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ เกิดอุบัติเหตุ 58% เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อพลาดเกิดความสูญเสีย “ล้มคนเดียว ล้มทั้งครอบครัว” หลายครอบครัวประสบปัญหาต้อง ลาออกจากงานเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ชวนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อกให้เต็มท้องถนน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในกลุ่มไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์อย่างแท้จริง
“ขอเชิญชวนพี่วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ เป็นต้นแบบ สุภาพบุรุษบนท้องถนน ขับขี่รถปลอดภัยด้วยการสวมหมวกกันน็อก ร่วมมือบูรณาการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่รถรับจ้าง รร.ทักษะพิพัฒน์ร่วมดำเนินการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทกลางผู้ประสบภัยและ สสส.”
น.ส.รุ่งอรุณกล่าวพร้อมย้ำด้วยว่า สสส.ตระหนักถึงอุบัติเหตุในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ได้แก่ 1.แผนขับเคลื่อนการจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ผ่านยุทธศาสตร์ไตรพลัง ร่วมกับภาคีเครือข่าย 2.จัดการระบบสารสนเทศ เครื่องมือความรอบรู้เฉพาะสุขภาพ (Persona Health) นวัตกรรมกลไกสู่การดูแลสุขภาพในยุคดิจิทัล โดยใช้ AI มาวิเคราะห์ ประมวลผลความแตกต่างในแต่ละบุคคล 3.นโยบายและแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์
อาทิ สนับสนุนโครงการสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ รถจักรยานยนต์ในเชิงลึก สนับสนุนโครงการหน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน สร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ สนับสนุนแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เพื่อมุ่งให้เกิดการสวมหมวกนิรภัย 100% ลดความเสี่ยง ลดการเจ็บตายจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการร่วมผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการ/ธุรกิจรับส่งอาหาร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการทำงาน เนื่องจากการใช้ความเร็ว ใช้โทรศัพท์ดูแผนที่ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะการขับขี่เชิงป้องกัน การเฝ้าระวังและสะท้อนความเสี่ยง รวมถึงการจัดการระบบข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แบบแผนการเกิดอุบัติเหตุ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน นอกจากนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงบทบาท และแผนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ เกาะติด และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ต่อไป
นายชลัช วงศ์สงวน ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย บ.เอสซีจี สกิลส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ด้วยค่านิยมขององค์กรเอสซีจีตระหนักเรื่องความปลอดภัย ขับรถส่งสินค้าไม่ให้ใช้มือถือ ต้องมีการวางแผนขนส่งตั้งแต่ต้นทาง หากจำเป็นต้องใช้มือถือต้องหาที่จอดรถ ขณะนี้เอสซีจีมีรถบรรทุก 1.4 หมื่นคันเพื่อส่งสินค้าทั่วประเทศ มีรถมอเตอร์ไซค์อีกจำนวนหนึ่ง มี รร.ทักษะพิพัฒน์ให้ความรู้พัฒนาทักษะให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย หากศึกษาบริษัทญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างวินัย ภาครัฐมีมาตรการลดภาษีให้ภาคเอกชนเมื่อสร้างความปลอดภัย.
บรรยายใต้ภาพ
ณรงค์ เรืองศรี
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 31 ม.ค. 2566