– รร.สังกัด กทม.ปักธงคุณภาพอากาศ พร้อมปิด รร.หากมีค่าฝุ่น 70-75 มคก./ลบ.ม.
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานครได้ดูแลป้องกันนักเรียนโรงเรียนในสังกัดจากผลกระทบของฝุ่น PM2.5 โดยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2566 เมื่อฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน โรงเรียนจะพิจารณางดกิจกรรมกลางแจ้งและให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกอาคาร จัดให้มี safe zone เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในโรงเรียน โดยมีมาตรการปิดโรงเรียน หากฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 70-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เป็นดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจของผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งละไม่เกิน 3 วัน และผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน
นอกจากนี้ สสล.ร่วมกับสำนักการศึกษา กทม.จัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นรายวัน ผลกระทบต่อสุขภาพและวิธีการป้องกันตนเอง รวมถึงสมาชิกในครอบครัวให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งนักเรียนและครูจะตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.airbkk.com และแอปพลิเคชัน : AirBKK เพื่อเป็นข้อมูลการเลือกสีธง ซึ่งแสดงตามค่าฝุ่น รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ เลือกเติมน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ ไม่จอดรถกีดขวางทางจราจร งดการเผาในที่โล่ง เป็นต้น โดยหากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป
– กทม.สร้างความเข้าใจการส่งหนังสือแจ้งประเมินชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ กทม.โดยเจ้าหน้าที่ระบุจดหมายตกหล่น เพราะให้ที่อยู่ไว้ผิดและต้องเสียเบี้ยปรับเพิ่มว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษี (ภ.ด.ส.6) ให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หรือกำหนดเวลาที่ขยายออกไป โดยส่งให้แก่ผู้เสียภาษีโดยตรง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษี หากไม่มีผู้รับ หรือไม่สามารถส่งได้ ให้ปิดหนังสือในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษี หรือลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ เมื่อดำเนินการตามวิธีการและขั้นตอนดังกล่าวและล่วงพ้นไปไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้ถือว่าผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีแล้ว เมื่อผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายน หรือกำหนดเวลาที่ขยายออกไป หากไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนดต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในอัตราที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น หากผู้เสียภาษียังไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมไม่มีภาระต้องเสียภาษีและไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้งนี้ สนค.ได้แจ้งแนวทางการส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ทุกสำนักงานเขตทราบและถือปฏิบัติแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ค.65 เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน
– กทม.เน้นย้ำความสำคัญเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED-จัดอบรมการใช้งานอย่างถูกวิธี
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator, AED) ที่ติดตั้งตามพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ สูญหายว่า สนพ.โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED จำนวน 200 เครื่อง ในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และสนามกีฬาของ กทม. ตามโครงการ “กทม.ฝ่าวิกฤต เพิ่มโอกาสรอดชีวิตในภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibirllator : AED)” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้ โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนพ.ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในพื้นที่ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งรณรงค์อย่างต่อเนื่องถึงการเรียนรู้ขั้นตอนของห่วงโซ่การรอดชีวิต เพื่อเพิ่มโอกาสการกู้ชีพให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล ซึ่ง กทม.ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านความปลอดภัยในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจนหมดสติจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีภายในเวลาไม่เกิน 4 นาที หากพบผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ ให้รีบโทร 1669 ศูนย์เอราวัณ เพื่อรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เริ่มทำ CPR และเรียกหาเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ที่อยู่ใกล้เคียงมาช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อให้การฟื้นคืนชีพมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
– รร.กทม.งดกิจกรรมกลางแจ้งช่วงค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น
นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กล่าวถึงมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า โรงเรียนสังกัด กทม.ทุกแห่งมีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองเป็นประจำทุกวัน โดยนำผลการตรวจวัดมาแปรผลค่าฝุ่นเป็นธง 5 สี พร้อมสอนการเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติตนจากผลการวัดค่าฝุ่นประจำวัน โดยหากเป็นวันที่มีค่าฝุ่นละอองสูง เช่น เมื่อวันที่ 27 ม.ค.66 โรงเรียน กทม.ยกธงแดง พร้อมดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด อาทิ การงดกิจกรรมกลางแจ้ง การเข้าแถวในอาคารเรียน ไม่จัดกิจกรรมบริเวณลานอเนกประสงค์และสนามกลางแจ้ง กำชับครู นักเรียน และบุคลากรสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา รวมทั้งกำชับดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลกรณีที่มีอาการแพ้ฝุ่น
– รพ.กทม.ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 นักท่องเที่ยวต่างชาติ-ฉีดเข็มกระตุ้นเชิงรุกกลุ่มผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในส่วนของกรุงเทพมหานครว่า สนพ.ได้เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในโรงพยาบาล (รพ.) ทั้ง 12 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.สิรินธร รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.คลองสามวา และ รพ.บางนากรุงเทพมหานคร รวมถึง รพ.วชิรพยาบาล โดยอัตราค่าบริการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 800 บาท/เข็ม ไฟเซอร์ 1,000 บาท/เข็ม และค่าบริการทางการแพทย์อีก 380 บาท ซึ่งมีบริการฉีดวัคซีนในคลินิกโรคเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยที่มารับยาแล้วยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถรับบริการได้ทันที
ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.ให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้านติดเตียงในระบบเครือข่ายศูนย์ส่งต่อเพื่อการพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน (BMA Homeward Referral) ในชุมชน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลโดยผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ผ่านการอบรม รวมทั้งประสานอาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อรวมกลุ่มและนัดวันลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย สำหรับประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 – 6 เดือนตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และ Walk in ทั้ง 12 รพ.สังกัด กทม. อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่ม 608 และกลุ่มเด็กเล็ก ทั้งนี้ หากต้องการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ สามารถติดต่อสอบถามผ่าน สายด่วนสุขภาพ 1646 สำนักการแพทย์ กทม.พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง