– กทม.พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนในสังกัด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ของโรงเรียนในสังกัด กทม.เพื่อให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนถึงอันตรายและวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ดำเนินมาตรการพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) โดยสำรวจข้อมูลศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ 12 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนารูปแบบห้องปลอดฝุ่นสำหรับศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนสังกัด กทม. โดยมีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นที่ปรึกษา และศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต้นแบบ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นของ สธ.จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ชุมชนเอื้ออารีย์ เขตสวนหลวง ศูนย์ชุมชนฟื้นนคร ร่มเกล้าระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบัง และศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เขตบางเขน
นอกจากนี้ สนอ.ยังได้จัดทีมปฏิบัติการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งลงพื้นที่ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน แจกจ่ายหน้ากากอนามัย รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและให้ความรู้การป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ชุมชน โดยเริ่มดำเนินการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. – 28 ก.พ.66 รวมทั้งสำรองหน้ากากอนามัยและสนับสนุนหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเสี่ยง
– กทม.เร่งสร้างความเข้าใจประชาชนรอบโรงกำจัดมูลฝอย 800 ตัน เตรียมตรวจวัดกลิ่นด้วยวิธี Sensory Test
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโรงกำจัดมูลฝอย 800 ตัน ยังส่งกลิ่นเหม็น หลังปิดปรับปรุงแก้ไขว่า โรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาด 800 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ดำเนินการบริหารจัดการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ เพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยขณะนี้ได้ยุติคำสั่งดังกล่าวแล้ว หลังจากเข้าตรวจสอบ พบว่า บริษัทฯ ได้แก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อยแล้ว โดยติดตั้งประตูทางเข้า-ออก และซ่อมแซมผนังอาคารรับมูลฝอยและอาคารจัดเก็บ RDF ให้เป็นระบบปิด ติดตั้งม่านอากาศบริเวณประตูทางเข้า-ออก เพื่อป้องกันกลิ่นจากภายในออกสู่ภายนอกอาคารรับมูลฝอยและอาคารจัดเก็บ RDF ติดตั้งม่านพลาสติกใสบริเวณประตูทางเข้า-ออกอาคารรับมูลฝอย ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำยาดับกลิ่นอัตโนมัติอาคารรับมูลฝอยและอาคารจัดเก็บ RDF ติดตั้งและปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นภายในอาคาร ปรับปรุงแนวท่อดูดอากาศที่จะนำไปบำบัดให้ครอบคลุมแหล่งกำเนิดกลิ่น ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous – Emission Monitoring Systems : CEMS) ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถและช่วงเวลาการทำงานใหม่ เพื่อป้องกันกลิ่นตามทิศทางลมและเสียงรบกวนจากการทำงาน ปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการโดยขนกากตะกอนจากสายพานลำเลียงออกสู่รถบรรทุกและกำจัดกากตะกอนให้หมดวันต่อวัน ไม่มีตกค้าง รวมทั้งเสริมกำแพงโรงงานเพิ่มเติมจากเดิม 2 เมตร เป็น 4 เมตร และปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชน (Buffer Zone) 3 ชั้น ตลอดแนวรอบโรงงาน
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังประสานหน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อหาสารที่มีผลต่อสุขภาพและเป็นสารที่มีองค์ประกอบให้เกิดกลิ่น ได้แก่ สารแอมโมเนียและไฮโดรเจนซัลไฟล์ในช่วงที่โรงงานเดินระบบ ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.65 – 5 ม.ค.66 ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า ค่าการตรวจวัดดังกล่าว มีค่าไม่เกินตามที่มาตรฐานกำหนด ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีแผนการตรวจวัดกลิ่นด้วยวิธี Sensory Test (การประเมินผลทางประสาทสัมผัส) โดยประสานหน่วยงานราชการ อาทิ กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ตรวจวัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านกลิ่นและสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนรอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กทม.จะตรวจสอบและกำชับให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการโดยไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนต่อไป
– กทม.เน้นย้ำผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้งป้องกันอันตรายจากการสัมผัสฝุ่นละออง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการให้ความรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้แนะนำผู้ที่ประกอบอาชีพเสี่ยงต่อการรับสารพิษ ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานนอกอาคาร เช่น ตำรวจจราจร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและรถสามล้อ กรรมกรก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย ผู้ค้าริมถนน เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอย คนขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทางแบบธรรมดา และครู อาจารย์ที่ยืนรับนักเรียนบริเวณหน้าโรงเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน มีโอกาสได้รับฝุ่นละอองสูงให้ระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้เข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว
สำหรับการป้องกันตนเองให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 อย่างถูกวิธี เลือกชื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ ขนาดและรูปแบบของหน้ากากต้องกระชับเข้ากับใบหน้า และห้ามนำไปซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้ได้ครั้งเดียว
ขณะเดียวกัน สนพ.ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอกจัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน รวมถึงจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึกที่ได้ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (3) รพ.ในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 (วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 – 12.00 น.) รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 444 0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 – 16.00 น.) รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 02 289 7225 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5
– เขตปทุมวันจัดระเบียบผู้ค้าหน้าศาลพระพรหม ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวถึงการตรวจสอบผู้ค้าพวงมาลัยบริเวณหน้าศาลพระพรหม ภายหลังมีคลิปนักท่องเที่ยวซื้อพวงมาลัยจัดชุดไหว้พระพรหมราคาสูงว่า สำนักงานเขตปทุมวัน ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยการทำการค้าในจุดผ่อนผันบริเวณศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ พบผู้ค้าฝ่าฝืนทำการค้าในที่สาธารณะ จำนวน 3 ราย พร้อมทำความเข้าใจผู้ค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก่อนเปรียบเทียบปรับฐานความผิดจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ขณะเดียวกันได้กำชับผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทำการค้าอย่างถูกต้อง เน้นย้ำให้รักษาความสะอาดบริเวณพื้นที่ทำการค้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าติดป้ายราคาอย่างชัดเจน ไม่ข่มขู่ รีดไถ หรือสร้างความเดือดร้อนแก่นักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันตรวจตราพื้นที่ โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจเทศกิจลงพื้นที่ดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ดีของประเทศ