– กทม.เตรียมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 นักท่องเที่ยวต่างชาติตามแนวทางที่ สธ.กำหนด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้ทุกจังหวัดเปิดจุดบริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง โดยไม่ให้กระทบกับการบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้คนไทยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้เสนอให้พิจารณาเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 กรุงเทพมหานคร ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และศูนย์บริการสาธารณสุข 52 สามเสนนอก โรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. 11 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.สิรินธร รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.คลองสามวา และ รพ.บางนากรุงเทพมหานคร รวมถึง รพ.วชิรพยาบาล เป็นจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ.
ทั้งนี้ กทม.ได้ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในจุดบริการ หรือสถานพยาบาลของ กทม.ตามแนวทางให้บริการวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตามความสมัครใจ โดยคิดค่าบริการตามที่ สธ.กำหนด และไม่ส่งผลกระทบกับการบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แบ่งเป็น ค่าบริการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 800 บาท/เข็ม และไฟเซอร์ 1,000 บาท/เข็ม ค่าบริการทางการแพทย์ 380 บาท ขณะนี้เริ่มให้บริการแล้วในเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต
สำหรับประชากรกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง และกลุ่มสถานพยาบาล Nursing Home สนอ.ได้ดำเนินงานเชิงรุกในรูปแบบการให้บริการที่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มดังกล่าว และลดความแออัดในสถานพยาบาล ส่วนการให้บริการประชาชนทั่วไปที่ครบกำหนดการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และสามารถเดินทางมารับบริการที่จุดฉีดวัคซีนได้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในวันพุธและวันศุกร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. (วันพุธ เปิดให้บริการรูปแบบ walk in และวันศุกร์ เปิดให้บริการแบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ) และวันเสาร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 21, 29, 38, 40, 43 และ 51 โดยเปิดให้บริการรูปแบบ walk in และศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ตลอดเดือนมกราคม 2566 เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยเปิดให้บริการแบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือแบบ walk in ซึ่งสามารถรองรับผู้รับบริการได้สูงสุด 2,000 คน/วัน
นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์เน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตระหนักถึงความจำเป็นและเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น โดยมุ่งเน้นให้ข้อมูลประชาชนในชุมชนผ่านอาสาสมัครสาธารณสุข กทม.และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊กของสำนักอนามัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม
– กทม.ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดฝุ่น PM2.5 จากต้นกำเนิด
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนลดฝุ่น PM2.5 จากระบบขนส่งสาธารณะว่า กรุงเทพมหานคร โดย สจส.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดปัญหาคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ จึงได้จัดโครงการส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง ด้วยการจัดรถบัสพลังงานไฟฟ้าวิ่งเวียนให้บริการรับส่งฟรี ระหว่างชุมชนมายังสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการ 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง B2 กทม.2 – สถานีรถไฟฟ้าสนามเป้า และเส้นทาง B3 เคหะร่มเกล้า – สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ลาดกระบัง รวมทั้งจัดเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ารับส่งโดยไม่คิดค่าบริการจากวัดศรีบุญเรือง – สำนักงานเขตมีนบุรี ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ เช่น เดินเท้าและปั่นรถจักรยาน ช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดย สจส.ได้สำรวจและศึกษาเส้นทาง เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เดินได้และปั่นดี สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัยมายังสถานีรถไฟ หรือระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ และสนับสนุนสร้างเสริมระบบนิเวศน์ให้เอื้อต่อการใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป