– กทม.ยกระดับมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 – เพิ่มความเข้มข้นควบคุมมลพิษตั้งแต่ต้นทาง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร ระบุช่วงวันที่ 27-28 ม.ค.66 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละอองว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุก ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทั้งการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผ่านการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ โดยบูรณาการข้อมูลกับ คพ. ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 7 วัน พร้อมทั้งสื่อสารให้ประชาชนรับทราบในช่วงวิกฤต รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความห่วงกังวลของประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอแสดงผลอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะเดียวกันได้ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เช่น เพิ่มความเข้มงวดควบคุมฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม บำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์รถที่ใช้งานสม่ำเสมอ ควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อน้ำและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกตรวจสอบและให้คำแนะนำเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ อาทิ กิจการแพลนท์ปูน กิจการพ่นสี กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงดีเซล เป็นต้น โดยสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจสอบต่อเนื่องอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน และรายงานผลการดำเนินงานทุกวัน เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ป้องกันและลดการเกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะโรงงานและสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดปริมณฑล เพื่อควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ กทม.ได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เข้มงวดการตรวจวัดรถควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดเป็น 20 จุด เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นทาง
นอกจากนั้น กทม.ยังได้ตรวจสอบแหล่งกำเนิดเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 ครั้ง/เดือน/แห่ง โดยมีผลการตรวจเชิงรุกสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – 23 ม.ค.66 ดังนี้ โรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ 1,044 แห่ง ตรวจสอบ 3,869 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 7 ครั้ง แพลนท์ปูน 133 แห่ง ตรวจสอบ 494 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 15 ครั้ง สถานที่ก่อสร้าง 673 แห่ง ตรวจสอบ 1,116 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 27 ครั้ง การถมดิน/ท่าทราย 9 แห่ง ตรวจสอบ 64 ครั้ง ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 1,288 คัน เกินมาตรฐานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 10 คัน ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 55,850 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ 1,194 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง 8,391 คัน ห้ามใช้ 36 คัน และตรวจรถบรรทุก 29,248 คัน ห้ามใช้ 129 คัน ทั้งนี้ กทม.ได้สร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ เป็นต้น รวมถึงประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยหากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้ กทม.เร่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่ต้นทางในระยะยาวต่อไป
– กทม.กำชับ 50 เขต ตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารในร้านอาหาร ยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนระมัดระวังการบริโภค ‘โบโลน่าแซนด์วิช’ หลังสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารจากสถานที่ผลิตเพื่อจำหน่ายของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งในเขตประเวศ พบกรดเบนโซอิกเกินค่าปลอดภัยว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ประสานความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขต ตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารในร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบทั้งในและนอกสังกัด กทม.พร้อมตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และขอความร่วมมืองดจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจมีส่วนผสมที่ไม่ปลอดภัย โดยให้คำแนะนำวิธีการเลือกซื้ออาหารที่นำมาจำหน่าย อาทิ เลือกซื้ออาหารที่มีสีธรรมชาติ ไม่มีสีสันฉูดฉาดจนเกินไป อ่านฉลากทุกครั้ง มีฉลากผลิตภัณฑ์ถูกต้อง มีเครื่องหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และวันหมดอายุ มีบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ไม่ฉีกขาดชำรุด และวัตถุเจือปนได้มาตรฐาน มีวิธีการจัดเก็บอาหารที่ถูกต้อง เช่น หากเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปควรเก็บไว้ในความเย็นตลอดการจำหน่ายที่อุณหภูมิต่ำ 0 – 4 องศาเซลเซียส
ส่วนสถานที่ผลิตเพื่อจำหน่ายของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งในเขตประเวศ สนอ.ได้ประสานสำนักงานเขตประเวศตรวจสอบและให้คำแนะนำสถานประกอบการปฏิบัติและจัดสถานที่ให้ถูกสุขลักษณะตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 พร้อมให้คำแนะนำการใช้สารปรุงแต่งอาหารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสถานประกอบกิจการอาหาร จำนวน 1,718 ราย โดย สนอ.ได้แจ้งทุกสำนักงานเขตกำชับสถานประกอบการใช้สารปรุงแต่งอาหารให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหารอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแนวทางการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.ในสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจะตรวจประเมินสถานศึกษา ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง มีรายละเอียดการตรวจประเมิน ดังนี้ (1) ตรวจความสะอาดของโรงอาหาร ห้องครัว ห้องสุขา ระบบบำบัดน้ำเสียและที่พักขยะ (2) ตรวจระบบกักเก็บน้ำ (3) ตรวจความสะอาดตู้กดน้ำดื่มและบริเวณโดยรอบ (4) ตรวจการจัดเก็บนมโรงเรียน (5) สุ่มตรวจวัตถุดิบอาหารด้านเคมี (6) สุ่มตรวจมือผู้สัมผัสอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ และอาหารปรุงสำเร็จ ด้านจุลชีววิทยา (7) สุ่มตรวจคุณภาพน้ำบริโภคในครัว น้ำในบ่อพักน้ำ และน้ำตู้กดน้ำดื่ม ชุดทดสอบหาเชื้อแบคทีเรียในการตรวจคุณภาพน้ำบริโภค และ (8) ส่งเสริมให้ผู้สัมผัสอาหารเข้ารับอบรมสุขาภิบาลอาหารและตรวจสุขภาพ ทั้งนี้ หากพบข้อบกพร่อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจะแจ้งผลการตรวจประเมินให้สถานศึกษาทราบในวันตรวจประเมิน และจัดทำหนังสือแจ้งผลให้ผู้บริหารทราบ เพื่อแก้ไขและตรวจติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบสารสนเทศงานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลการควบคุม กำกับ และพัฒนางานอาหารปลอดภัยในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ.ได้กำชับผู้บริหารโรงเรียนและหัวหน้าฝ่ายการศึกษาทุกสำนักงานเขต เพื่อทราบและระมัดระวังกรณี อย.ออกประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารผลิตภัณฑ์ “โบโลน่าแซนด์วิช” รวมทั้งตรวจสอบดูแลและปฏิบัติตามมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตตรวจสอบ ให้คำแนะนำการประกอบอาหาร การจำหน่ายอาหารในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบ นอกจากนั้น ยังได้จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหาร สนศ.ผู้บริหารสำนักงานเขตและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการบริหารจัดการโรงเรียนด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาคารเรียน อาคารประกอบ ถังน้ำใต้ดิน อาคารลิฟต์ โดยตรวจสอบและปรับปรุงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีความปลอดภัย สำรวจอาคารที่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้เป็นที่พักอาศัยรวม เพื่อสวัสดิการคุณครู ตลอดจนดูแลสุขาภิบาลอาหารทั้งภายในและภายนอกรอบบริเวณโรงเรียน รวมถึงกำชับการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน รองรับการประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (Education Sandbox)