– เขตวัฒนาแจงจัดหาที่อยู่ใหม่รองรับ – แจ้งล่วงหน้าชุมชนคลองเป้งสามัคคีรุกล้ำคลองสาธารณะ
นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม. กล่าวกรณีชาวบ้านชุมชนคลองเป้งสามัคคี ร้องเรียนถูกไล่ที่โดยไม่มีที่อยู่ใหม่รองรับและไม่แจ้งล่วงหน้าว่า ชุมชนคลองเป้งสามัคคีตั้งอยู่ในเขตคลองสาธารณะ ซึ่งเป็นการบุกรุกที่สาธารณะและกีดขวางทางน้ำ เดิมมีผู้อยู่อาศัย 104 หลังคาเรือน เมื่อปี 2559 สำนักงานเขตวัฒนาร่วมกับสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา ตำรวจ และทหารได้ไล่รื้อชุมชนดังกล่าว และยังคงเหลืออีก 14 หลังคาเรือน ที่ยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่สาธารณะ โดยชุมชนฯ ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานเขตฯ เพื่อขอขยายเวลาการย้ายออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายแล้ว ประกอบกับสำนักงานเขตฯ มีหน้าที่ในการระวังรักษาที่สาธารณประโยชน์ อีกทั้งมีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดหาที่อยู่ใหม่รองรับบริเวณบึงนายพล เขตคลองสามวา แต่ชาวชุมชนทั้ง 14 หลังคาเรือน ไม่ประสงค์ย้ายไปในสถานที่ที่จัดหาให้ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือแจ้งและติดประกาศให้ออกจากพื้นที่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.63 – 6 ม.ค.66
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดประชุมแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคลองเป้งสามัคคี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 โดยเชิญผู้แทนจากชุมชนฯ เข้าร่วมชี้แจงสร้างความเข้าใจให้ทราบถึงปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ พร้อมทั้งเสนอจัดเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือหากประสงค์ย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยมีค่าสนับสนุนการรื้อย้ายจากภาคเอกชนให้หลังคาเรือนละ 20,000 บาท มีเพียง 1 หลังคาเรือนเท่านั้นที่ประสงค์ย้ายออก ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 14 หลังคาเรือน ยังคงแจ้งความประสงค์ขออาศัยในพื้นที่รุกล้ำต่อไป ขณะที่สำนักงานเขตฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจถึงปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ และสอบถามความพร้อมการรื้อย้ายและติดประกาศกำหนดการรื้อย้ายชุมชนฯ ในส่วนที่เหลือ 14 หลังคาเรือน ซึ่งได้ให้ระยะเวลาเตรียมความพร้อมตลอดมา รวมทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สำนักงานเขตฯ ได้มอบถุงยังชีพและอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด 19 พร้อมประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกายภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอนามัย และด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ประสานเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้าร่วมประชุม เพื่อปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งชุมชนฯ ได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว และในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบันชาวชุมชนฯ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ลดลง จึงไม่มีเงินออมทรัพย์ และได้ยกเลิกการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ไปแล้ว
– เขตมีนบุรีเข้มตรวจประเมินร้านอาหาร – แผงลอยจำหน่ายอาหารรอบสถานศึกษา
นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กทม. กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบการสุขาภิบาลอาหารในร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารบริเวณโดยรอบโรงเรียนคลองสามและโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน เขตมีนบุรี เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจประเมินร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารบริเวณโดยรอบโรงเรียนดังกล่าว เพื่อตรวจสุขลักษณะของสถานประกอบการ ตามแบบตรวจสุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือแบบตรวจสุขลักษณะแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี หรือผ่านแอปพลิเคชัน BKK Food Safety พร้อมทั้งตรวจอาหารพร้อมบริโภค มือผู้สัมผัสอาหาร และภาชนะอุปกรณ์ โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (Sl-2) ตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาต โดยลงข้อมูลในระบบฯ ในรายการสถานประกอบการ (ไม่มีใบอนุญาต) หากตรวจสอบแล้วพบกรณีบกพร่อง หรือประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดต่อไป
– เขตทุ่งครุซ่อมผิวจราจรชำรุดในซอยพุทธบูชา 37
นายพงค์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ กทม. กล่าวกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากผิวจราจรบริเวณภายในซอยพุทธบูชา 37 ถนนพุทธบูชา แขวงบางมด มีสภาพชำรุดว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่กลุ่มงานระบายน้ำ ฝ่ายโยธา ลงพื้นที่ปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจรบริเวณดังกล่าว โดยเทแอสฟัลต์บดอัดปรับพื้นผิวจราจรให้เรียบ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรให้ประชาชน