– กทม.จับมือภาคีเครือข่ายออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกต่อเนื่อง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบังว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.และสำนักงานเขตลาดกระบัง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง หลังทราบผลการตรวจยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบัง จากการลงพื้นที่ร่วมกันในวันที่ 17 ม.ค.66 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 197 ตัว จับสุนัขที่สัมผัสโรคมากักดูอาการ 7 ตัว วันที่ 19 ม.ค.66 ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 22 ตัว และจับสุนัขที่สัมผัสโรคมากักดูอาการ 4 ตัว รวมทั้งวางแผนออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค.66 พบสุนัขเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 4 ตัว เป็นสุนัขจากแขวงทับยาว 3 ตัว (ยืนยันผลตรวจจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ วันที่ 16 และ 19 ม.ค.66) และแขวงลำปลาทิว 1 ตัว (ยืนยันผลตรวจจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย วันที่ 18 ม.ค.66)
สำหรับสถานการณ์สัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2565 พบสุนัขเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 2 ตัวในพื้นที่เขตหนองจอก และปี 2566 พบสุนัขเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 4 ตัวในพื้นที่เขตลาดกระบัง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค.66) ที่ผ่านมา สนอ.ได้เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยพื้นที่ที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในเขตหนองจอกได้ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ฯ และประสานคณะสัตวแพทยศาสตร์ เทคโนโลยีมหานคร ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 1,355 ตัว (ต.ค. – ธ.ค.65) เขตลาดกระบังออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ฯ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 417 ตัว ทำหมัน 197 ตัว (ต.ค.65 – 19 ม.ค.66) อีกทั้งยังมีแผนออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนมินทราธิราช และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุก รวมถึงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยให้นำสัตว์เลี้ยงมารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี พร้อมแนะนำการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบและไม่ปล่อยทิ้งสัตว์ในพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผ่านแผ่นพับ ป้ายไวนิล เฟซบุ๊กกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เฟซบุ๊กศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งเป็นเครือข่ายการสื่อสารการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขและแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ ตลอดจนดำเนินโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และสำนักงานเขต 50 เขต ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนฯ ในเดือนมีนาคมและกันยายนครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
– กทม.ขยายพื้นที่จัดดนตรีในสวนครอบคลุม 6 กลุ่มเขต พร้อมประเมินผลการจัดงานทุกครั้ง
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตเรื่องการประกวดราคาโครงการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนและการจัดกิจกรรมที่สวนเสรีไทยมีผู้เข้าร่วมน้อยว่า กรุงเทพมหานคร โดย สวท.ได้จัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 โดยดำเนินการจ้างเหมาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งปฏิบัติตามขั้นตอนและแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ตลอดจนระเบียบและหนังสือสั่งการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาทั้งหมด 4 ราย และมีผู้เสนอราคา 2 รายที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการในการจัดงานที่เกี่ยวกับด้านดนตรี ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ฯ ข้อ 7 ว่า “เป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพรับจ้างงานที่ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว” ทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นผู้เข้ายื่นข้อเสนอเพียง 2 ราย คณะกรรมการฯ จึงพิจารณาเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดและเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาฯ เป็นเงิน 7,330,000 บาท
โดยในปีนี้มีแนวคิดริเริ่มการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 6 กลุ่มเขต เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ส่วนการเลือกสวนเสรีไทยเป็น 1 ใน 12 สวนของการจัดกิจกรรม เนื่องจากการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนที่ผ่านมามักจะดำเนินการในพื้นที่กลางเมืองเป็นหลัก กทม.จึงได้กำหนดแผนที่จะขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สวนธนบุรีรมย์ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (บางขุนนนท์) เป็นต้น ซึ่งได้เคยจัดกิจกรรมฯ มาแล้ว เมื่อวันที่ 7 ส.ค.65 ได้รับผลตอบรับที่ดีและมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก
ส่วนกรณีที่ระบุการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ม.ค.66 ณ สวนเสรีไทยมีผู้มาร่วมกิจกรรมน้อย ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ดำเนินการ นั้น จากการตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ การเตรียมงาน และการจัดงานไม่พบปัญหาและอุปสรรค วงดนตรีที่เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย วงดนตรีของประชาชนและศิลปิน ซึ่งมีความสามารถ อย่างไรก็ตาม สวท.ไม่ได้ละเลย หรือนิ่งนอนใจจะประเมินผลการจัดงาน เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนของการจัดงานและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อมิให้เกิดประเด็นความไม่คุ้มค่ากับงบประมาณขึ้นอีก ทั้งนี้ การจัดงานแต่ละครั้ง สวท.ได้ประเมินผลการจัดงานในด้านต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ การเตรียมการก่อนแสดง ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และปัญหาอุปสรรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น หากเกิดปัญหา เช่น การแสดงดนตรีไม่ตรงกับรสนิยม หรือความชอบของประชาชนในพื้นที่จัดกิจกรรมนั้น ๆ หรือจำนวนผู้ชมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะปรับเปลี่ยนแนวดนตรี หรือรูปแบบการแสดงให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่อไป
– กทม.ปรับรูปแบบแนวสะพานเกียกกาย พร้อมเดินหน้าก่อสร้างช่วงที่ 3
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกต กทม.เปิดให้เอกชนประมูลก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย สัญญา 3 ทั้งที่รัฐบาลให้พิจารณาทบทวนโครงการฯ ว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดประมูลโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 เนื่องจากโครงการฯ ช่วงที่ 2 ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยช่วงที่ 3 เป็นการก่อสร้างทางยกระดับพร้อมทางขึ้นลงต่อเนื่องจากช่วงที่ 2 และได้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ช่วงที่ 3 ได้พื้นที่ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมของกรุงเทพฯ พร้อมเชื่อมโยงและพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยแบ่งเบาการจราจรของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและลดระยะเวลาการเดินทาง
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการฯ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.ค.64 ตามที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยรูปแบบสะพานตามแนวถนนทหาร ได้ปรับแนวสะพานด้านฝั่งธนบุรีไปชิดกับวัดฉัตรแก้วจงกลณีและด้านฝั่งรัฐสภาไปใช้พื้นที่ของวัดแก้วฟ้าจุฬามณี 7 เมตร ทำให้เปิดมุมมองรัฐสภามากขึ้น ไม่ใช่พื้นที่ของรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันด้านฝั่งธนบุรี ได้เจาะเข็มฐานรากบนฝั่งแม่น้ำแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างฐานรากของสะพาน ส่วนด้านฝั่งพระนคร ได้ทำทางเดินเข้าท่าเรือชั่วคราว เพื่อรองรับการย้ายท่าเรือหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณีเรียบร้อยแล้ว