– กทม.ตรวจสอบมาตรการป้องกันโควิด 19 สถานที่จัดงานช่วงตรุษจีน เน้นย้ำมาตรการ 2U สำหรับประชาชน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้จัดเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ร่วมกับสำนักงานเขตลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยกำชับมาตรการสำหรับสถานที่จัดงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 4 เข็ม หรือครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด หากเจ้าหน้าที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้ตรวจหาเชื้อแบบ Antigen Test Kit (ATK) ทันทีและไม่ควรมาปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลาที่ให้บริการ สถานที่จัดงานต้องมีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอและจัดวางในบริเวณที่เหมาะสม ใช้งานได้สะดวก ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1 – 2 ชั่วโมง รวมทั้งต้องควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัดและจัดระยะห่างให้เหมาะสม กำหนดมาตรการทางเข้า – ออก จัดพื้นที่แบบเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19
ส่วนมาตรการสำหรับประชาชนที่มาร่วมงานควรประเมินตนเอง หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบควรงดเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลาที่ร่วมงาน หรืออยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด และควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 2U อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย Universal Prevention มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ได้แก่ เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก และสังเกตอาการตนเองหากป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้ตรวจ ATK และ Universal Vaccination ลดการป่วยหนักในกลุ่ม 608 โดยการรับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 4 เข็ม และเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือนในประชาชนทุกกลุ่ม
– กทม.ตรวจกล้อง CCTV ให้พร้อมใช้งาน ดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดงานตรุษจีนเยาวราช – ถนนข้าวสาร
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมไฟฟ้าส่องสว่างและระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อติดตามดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ประจำปี 2566 ว่า สจส.ได้กำชับมาตรการดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดงานตรุษจีนเยาวราชอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบสภาพการใช้งานของกล้อง CCTV ที่ใช้สอดส่องดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่มาร่วมงานตรุษจีนเยาวราชและถนนข้าวสาร ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 23 ม.ค.66 โดยมีกล้อง CCTV จำนวน 287 กล้อง รวมทั้งสิ้น 63 จุด ตลอดแนวถนนเยาวราช ถนนมหาชัย ซอยสำราญราษฎร์ ถนนศิริพงษ์ เสาชิงช้า ถนนดินสอ ถนนพระสุเมรุ ถนนบวรนิเวศน์ ถนนตะนาว ถนนแยกสามยอด ถนนเจริญกรุง ถนนผดุงด้าว และถนนลำพูนไชย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสภาพใช้งานได้เป็นปกติ
– กทม.ผนึกกำลังดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช
นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดงานตรุษจีนเยาวราช ประจำปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช โดยขอกำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตใกล้เคียง รวมทั้งศูนย์ อปพร. ตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ ร่วมดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่จัดงาน อำนวยความสะดวกด้านการจราจร จัดระเบียบการตั้งวางแผงจำหน่ายสินค้าให้เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ล้างทำความสะอาดถนนเยาวราชทั้งสองฝั่ง ตั้งวางถังรองรับมูลฝอยบริเวณถนนเยาวราช (ฝั่งซ้าย) ๘ จุด ถนนเยาวราช (ฝั่งขวา) ๖ จุด จุดจอดรถเก็บขนมูลฝอยขนาด ๕ ตัน ๕ จุด และจัดรถสุขาเคลื่อนที่ ๒ คัน บริเวณจุดจอดรถถนนเจริญกรุงฝั่งซ้าย (หลังวัดไตรมิตร)
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ศาสนสถาน และศาลเจ้าในพื้นที่ลดการจุดธูปเทียน เผากระดาษ เพื่อควบคุมและลดปริมาณฝุ่น PM2.5 รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แก่ประชาชนที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ทั้งนี้ ได้แจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้ประชาชนบริเวณจุดคัดกรองด้วย
สำหรับการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย รวมทั้งอุบัติภัยต่าง ๆ ในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน สำนักงานเขตฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสวนมะลิตรวจสอบอาคารและชุมชนที่พักอาศัยหนาแน่น ตรวจระบบการรักษาความปลอดภัย กริ่งเตือนเหตุอัคคีภัย ไฟส่องสว่างตามทางเดินและทางหนีไฟ ความพร้อมใช้งานของถังดับเพลิง ตรวจสอบจุดหัวจ่ายน้ำประปาหัวแดงบริเวณใกล้เคียงพื้นที่จัดกิจกรรมและบริเวณที่มีผู้พักอาศัยหนาแน่น แนะนำการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย รวมถึงกวดขัน ตักเตือนประชาชนห้ามจุดดอกไม้เพลิง ประทัด หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่เขตฯ พร้อมแจ้งประกาศสำนักงานเขตฯ เรื่อง การป้องกันอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีนให้ประชาชนรับทราบ เพื่อช่วยกันสอดส่อง ดูแล และป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยระหว่างวันที่ 20 – 23 ม.ค.66 ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจตราพื้นที่จัดกิจกรรมและบริเวณใกล้เคียง เพื่อดูแลการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ค้าให้ถูกสุขลักษณะ จัดชุดตรวจตราร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท้องที่ เพื่อรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร เตรียมความพร้อมรถบรรทุกน้ำ หากเกิดเหตุอัคคีภัยสามารถสนับสนุนการดับเพลิงร่วมกับสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสวนมะลิ จัดตั้งกองอำนวยการควบคุมและสั่งการปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าบริเวณที่เกิดเหตุ ตลอดจนร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสวนมะลิ สน.พลับพลาไชย 2 และ สน.จักรวรรดิ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่พักอาศัยและเข้ามาท่องเที่ยวย่านเยาวราชทราบถึงการป้องกันอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน อาทิ การจุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้เจ้า เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ต้องไม่ใช้ภาชนะที่ไม่ติดไฟ แข็งแรงไม่ติดไฟได้ง่าย ก่อนเข้านอน หรือออกนอกเคหสถานควรสำรวจสายไฟ ปลั๊กไฟ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์หลังจากประกอบอาหารเสร็จแล้วให้ปิดวาล์วแก๊สและถังแก๊สให้เรียบร้อย เมื่อพบกลุ่มควัน หรือพบเหตุเพลิงไหม้สามารถแจ้งสายด่วน 199 ทันที
– เขตลาดกระบังเร่งสอบสวนโรคพิษสุนัขบ้า – จัดหน่วยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนป้องกันในชุมชนนำไกร
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีพบสุนัขตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ตัว ภายในชุมชนนำไกรว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตลาดกระบัง ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศและปศุสัตว์ พื้นที่เขตลาดกระบัง โดยภายหลังได้รับแจ้งมีสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 1 ตัว และเสียชีวิตในเวลาถัดมา จากการตรวจสอบและสอบสวนโรคที่ชุมชนนำไกร แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง พบว่า มีคนสัมผัสสัตว์ติดเชื้อ ดังกล่าว 3 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศ ได้ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้แล้ว และนัดหมายให้มาฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด พร้อมทั้งประสานศูนย์กักกันสุนัขประเวศ จับสัตว์สัมผัสโรคในบ้านเดียวกัน 5 ตัว และสั่งกักสัตว์บริเวณอู่ซ่อมรถ 10 ตัว ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.66 ปัจจุบันยังไม่พบโรคพิษสุนัขบ้า
นอกจากนั้น ยังได้ลงพื้นที่รณรงค์ประชาสัมพันธ์จัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าบริเวณชุมชนนำไกรและชุมชนใกล้เคียง โดยได้รับความร่วมมือจากจากศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศ และปศุสัตว์พื้นที่เขตลาดกระบัง ฉีดวัคซีนแมว สุนัข และสัตว์อื่น ๆ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวนทั้งสิ้น 195 ตัว รวมทั้งจัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนของทุกปี โดยลงพื้นที่บริการตามชุมชนให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงมารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี รวมทั้งแนะนำการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบและไม่ปล่อยสัตว์ทิ้งในที่สาธารณะ
– เขตบางรักกำชับโครงการก่อสร้างตรงข้ามสวนลุมพินี แก้ปัญหาเสียงดัง – ฝุ่นละออง
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับผลกระทบจากการโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บริเวณตรงข้ามสวนลุมพินีว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางรัก ได้ตรวจสอบการก่อสร้างตามข้อร้องเรียนดังกล่าว พบว่า โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค อาคาร 69 ชั้น ชั้นลอย 5 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น (3 ทาวเวอร์) จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารโรงแรม (279 ห้อง) อยู่อาศัยรวม (406 ห้อง) สำนักงาน สรรพสินค้า พาณิชย์ (ร้านค้า) โรงมหรสพ ห้องประชุม ภัตตาคาร และจอดรถยนต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโครงสร้างชั้นใต้ดินและโครงสร้างอาคารชั้นที่ 12 โดยกำหนดช่วงเวลาการก่อสร้างในวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น. ทั้งนี้ กรณีที่มีกิจกรรมการเทปูนที่จำเป็นต้องทำงานอย่างต่อเนื่องหลังเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 22.00 น. วันเสาร์ทำงานเวลา 08.00 – 17.00 น. วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์งดทำกิจกรรมก่อสร้าง
ส่วนกรณีปัญหาเสียงดังและฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบ พร้อมทั้งกำชับเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงานให้กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานในโครงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ลดจำนวนเครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ที่ใช้งานบริเวณใกล้เคียงกัน และไม่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงดังพร้อมกันในเวลาเดียวกัน หรือเพิ่มมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงดังและฝุ่นละออง ซึ่งจากการตรวจสอบโครงการฯ ได้มีมาตรการป้องกันฯ ได้แก่ ทำรั้วทึบสูง 6 เมตร ที่มีลักษณะเป็น Metal Sheet ปิดกั้นตามแนวเขตที่ดินต่างเจ้าของและที่สาธารณะ พ่นละอองน้ำโดยรอบโครงการ เป็นต้น