บางบอนชูต้นแบบคัดแยกขยะบริษัท TCP (กระทิงแดง) ลดปริมาณขยะเหลือศูนย์ คุมเข้มฝุ่นจิ๋วหม้อไอน้ำ (Boiler) โรงงานหลอมโลหะสยามเอเชียเมทอล ปั้นสวนหย่อมฝั่งขาออกถนนกาญจนาภิเษก (หูช้าง 2) แก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งขยะถนนพรมแดน

(24 เม.ย. 68) เวลา 12.45 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางบอน ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด หรือ TCP (กระทิงแดง) พื้นที่ 161 ไร่ 6 งาน 84 ตารางวา มีบุคลากร 500 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จัดทำปุ๋ยหมักแบบฝังกลบในหลุม โดยนำเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานในโรงอาหารมาทำปุ๋ยผสมใบไม้ นำถังขยะมาเป็นอุปกรณ์ถังกรีนโคน เพื่อหมักเศษอาหาร นำใบไม้ในบริษัทฯ มาทำปุ๋ยเพื่อปลูกผัก จัดทำปุ๋ยหมักชีวภาพ มีการทำน้ำหมัก EM น้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยน้ำสังเคราะห์แสง จัดทำปุ๋ยหมักรักษ์โลก มีเครื่องย่อยเศษอาหาร (Food Waste Composter Machine หรือ Electric Composter) เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับกำจัดเศษอาหาร และเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 2 เครื่อง ย่อยเศษอาหารเครื่องละ 4 กิโลกรัม/วัน 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท โดยมีบริษัท Waste Buy เข้ามารับซื้อ นำขยะรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ปลูกต้นไม้ กระบะปลูกผักทำจากแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาและไม้พาเลทเหลือใช้ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปในบริษัทฯ โดยมีบริษัท Waste Buy เข้ามารับซื้อ ส่วนขยะแห้งทั่วไป จะมีจุดทิ้งโดยเฉพาะ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย มีจุดทิ้ง จำนวน 2 จุด สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 8,400 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 6,690 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 1,494 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยกเหลือ 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 1,100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยกเหลือ 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวชื่นชมการบริหารจัดการขยะ ซึ่งบริษัทที่สามารถคัดแยกขยะรีไซเคิลออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น กล่องกระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เพื่อนำไปจำหน่าย ตลอดจนนำไปผลิตเป็นกระเป๋าและสิ่งของอื่น ๆ รวมถึงคัดแยกขยะเศษอาหาร โดยนำมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ การเพาะเลี้ยงไส้เดือน ส่งผลให้ปริมาณขยะที่จัดเก็บหลังการคัดแยกมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะทั่วไป เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยกันทำให้ปริมาณขยะลดลงอึก ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลดลงจนเหลือศูนย์ เหมือนขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิล ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บจก.สยามเอเชีย เมทอล ถนนบางบอน 1 ซอย 18 ซึ่งประกอบกิจการหลอมโลหะ ประเภทหลอมหล่อเหล็ก หล่อข้อต่อ ข้องอท่อประปา อะไหล่เครื่องจักรการเกษตร ชุดฝาบ่อ วาล์วประตูน้ำ ปั๊มน้ำ ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงในการหลอม มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ Wet scrubber และ Cyclone ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหม้อไอน้ำตามแผนงานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเนื่อง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกขนส่งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน 9 แห่ง แพลนท์ปูน 3 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 7 แห่ง ตรวจวัดควันดำอู่รถสองแถว 2 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมฝั่งขาออกถนนกาญจนาภิเษก (หูช้าง 2) บริเวณหน้าโรงพยาบาลบางปะกอก 8 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตัดหญ้า จัดเก็บวัชพืชใบไม้แห้ง ตัดแต่งกิ่งไม้แห้ง ปูแผ่นอิฐทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบางบอนสุขใจ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 5 ตารางวา 2.ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา (สวนรักษาศุข) พื้นที่ 4 ไร่ 12 ตารางวา 3.สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 พื้นที่ 1 งาน 68 ตารางวา 4.สวนหย่อมฝั่งขาเข้าถนนเอกชัย (หูช้าง 3) พื้นที่ 1 งาน 34 ตารางวา สวน 15 นาที อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเมืองมณีภิรมย์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา 2.สวนหย่อมฝั่งขาออกถนนกาญจนาภิเษก (หูช้าง 2) พื้นที่ 1 งาน 45 ตารางวา 3.สวนหย่อมฝั่งขาเข้าถนนกาญจนาภิเษก (หูช้าง 4) พื้นที่ 3 งาน 86 ตารางวา 4.สวนหินใต้สะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก พื้นที่ 1 ไร่ 35 ตารางวา 5.วัดบางบอน พื้นที่ 100 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวนให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชน เพื่อให้การจัดทำสวนเกิดประโยชน์ในการใช้งานอย่างแท้จริง

ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ ตรงข้ามวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี ถนนพรมแดน จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่เขตฯ มีพื้นที่รกร้างและมีการลักลอบนำขยะมาทิ้ง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ตรงข้ามวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี ถนนพรมแดน และตรงข้ามโรงเรียนบ้านนายผล (แม้นสุวรรณอุปถัมภ์) ถนนบางบอน 5 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด และจัดเก็บขยะออกจากพื้นที่แล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยไว้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้ง

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 230 ราย ได้แก่ 1.หน้าหมู่บ้านพระปิ่น 5 ผู้ค้า 88 ราย ตั้งแต่ปากซอย 1-13 ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 2.หน้าตลาดปิ่นทอง ผู้ค้า 75 ราย ตั้งแต่ปากซอยเอกชัย 46-44 ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. ผู้ค้า 37 ราย และช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. ผู้ค้า 38 ราย 3.หน้าหมู่บ้าน ดี.เค. ผู้ค้า 67 ราย ตั้งแต่ปากซอย ดี.เค. 4-14 ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. โดยในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด หน้าหมู่บ้านวราภรณ์ ถนนบางบอน 5 ผู้ค้า 5 ราย ต่อมาปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าห้างบิ๊กซี สาขาบางบอน ผู้ค้า 10 ราย 2.หน้าศูนย์นิสสัน สาขาบางบอน ผู้ค้า 23 ราย ผู้ค้าส่วนหนึ่งเข้าไปทำการค้าในพื้นที่เอกชน บางส่วนไปทำการค้าหน้า 7-11 ใกล้เคียง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการค้าภายในหมู่บ้าน ให้เขตฯ พิจารณาจัดระเบียบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 อาจจะทำเป็นรูปแบบวิถีชุมชนหรือตลาดชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบให้เขตฯ อื่นๆ ที่มีลักษณะพื้นที่ทำการค้าในลักษณะเดียวกัน ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันต่อไป

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางบอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:

ข่าวเกี่ยวข้อง

📣 กทม. ชวนล่องเรือฟรี! สัมผัสเสน่ห์บางลำพู 🚤🌿ใครกำลังมองหากิจกรรมดีๆ สำหรับวันหยุด “ล่องเรือไฟฟ้า คลองบางลำพู” คือหนึ่งในตัวเลือกที่ไม่ควรพลาด! เพราะคุณจะได้ล่องเรือชมวิวคลองกลางกรุง พร้อมแวะขึ้น – ลงตามจุดสำคัญต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง

กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200