บางซื่อจัดระเบียบผู้ค้าตลาดใต้สะพานสูง ยกต้นแบบคัดแยกขยะพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พลิกที่ว่างปั้นสวนธนะสิริท้ายซอยประชาชื่น 43 

 

 

(21 เม.ย. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางซื่อ ประกอบด้วย 

 

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ได้แก่ 1.ตลาดประจวบบางซื่อ ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 39 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 00.00-09.00 น. 2.ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 74 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-14.00 น. 3.ตลาดมณีพิมาน ถนนประชาชื่น ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 4.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 46 ราย ฝั่งขาออก (ซอยบุญเหลือ) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. ฝั่งขาเข้า (ตลาดมณีพิมาน) ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. และ 5.หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. และ 15.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 156 ราย ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ข้างห้างโลตัสประชาชื่น ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 3.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ขาออก) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 4.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 47 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. และ 5.ตรอกข้าวหลาม (ชุมชนจันทร์เกษม) ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าบริเวณซอยสะพานขวา ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือซอยโชติวัฒน์ (สะพาน 99) ผู้ค้า 8 ราย ยกเลิกวันที่ 1 เมษายน 2568 นอกจากนี้ เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 10 ราย 2.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 47 ราย กำหนดยกเลิกเดือนกรกฎาคม 2568 ส่วนตรอกข้าวหลาม (ชุมชนจันทร์เกษม) ผู้ค้า 40 ราย จะพิจารณาจัดทำเป็นตลาดชุมชน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ตรวจสอบจำนวนผู้ค้าที่มีตัวตนและยังทำการค้าอยู่จริง จัดทำบัญชีผู้ค้าให้เป็นยอดผู้ค้าในปัจจุบัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีเจ้าหน้าที่และนักศึกษา 100 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ ด้วยเครื่องนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยในการย่อยสลาย ส่วนเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล มีโซนแยกทิ้งขยะรีไซเคิล คัดแยกขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ และกล่องต่าง ๆ มีผู้ประกอบการมารับซื้อ 3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่สามารถคัดแยกได้จะใส่ถังแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,290 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ 

 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนธนะสิริ ซอยประชาชื่น 43 ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ว่าง จัดเก็บขยะ กำจัดวัชพืช จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 1 แห่ง คือสวนสุขภาพประชานุกูล พื้นที่ 2 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมริมคลองประปา พื้นที่ 25 ไร่ 2.สวนป่าวัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) พื้นที่ 5 ไร่ 3.สวนเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา ถนนรัชดาภิเษก (หน้าศิริชัยไก่ย่าง) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา 4.สวนสุวรรณสุทธารมย์ (วัดทองสุทธาราม) พื้นที่ 8 ไร่ 5.สวนหย่อมหน้าร้านนิตยาไก่ย่าง และสวนสุขภาพประชานุกูล พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา 6.สวนหย่อมใต้ทางด่วน ซอยประชาชื่น 30 พื้นที่ 157 ตารางวา 7.สวนเกษตรดาดฟ้าในเมือง พื้นที่ 117 ตารางวา 8.สวนปากซอยประชาชื่น 19 พื้นที่ 152 ตารางวา 9.สวนบริเวณสี่แยกวงศ์สว่าง พื้นที่ 64 ตารางวา 10.สวนธนะสิริ ซอยประชาชื่น 43 พื้นที่ 1 งาน 2 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงอนุรักษ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในพื้นที่ไว้ตามเดิม การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวน 

 

ในการนี้มี นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางซื่อ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี 

#บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60 

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200