
(6 เม.ย.68) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ พุทธศักราช 2568 ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ฯ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ส่วนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงวางพุ่มดอกไม้ส่วนพระองค์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วเสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี และ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ รับเสด็จ และส่งเสด็จ
วันเดียวกันนี้ เวลา 17.00 น. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี และ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีถวายบังคมปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ฯ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร
สำหรับวันจักรี หรือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเนื่องมาจากวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี ซึ่งมีนามเดิมว่า หลวงพินิจอักษร (ทองดี)) และพระราชมารดา “หยก” ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2279 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมโกศ ได้เสกสมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ได้กอบกู้เอกราชและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกใน พ.ศ. 2319
เมื่อถึง พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการจึงพร้อมใจอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ ปี พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในราชการ ได้แก่ สงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ. 2328 การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ชำระกฎหมายให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปเป็นอันมาก
————————