(4 เม.ย. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจอมทอง ประกอบด้วย
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (วัจนะ) ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าแล้ว ผู้ค้าบางส่วนย้ายเข้าไปทำการค้าในตลาดเอกชน บางส่วนเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น รวมถึงย้ายกลับภูมิลำเนา ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 แห่ง รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 50 ราย ดังนี้ 1.ตลาดจอมทอง ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (หลังโรงพยาบาลบางปะกอก 9) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. ซึ่งในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 4 จุด ได้แก่ 1.ถนนพุทธบูชา ซอย 7 ถึงซอย 23 ผู้ค้า 9 ราย 2.ถนนพระราม 2 ซอย 33 หน้าวัดยายร่ม ผู้ค้า 6 ราย 3.ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (วัจนะ) ผู้ค้า 12 ราย 4.ซอยสุขสวัสดิ์ 14 ผู้ค้า 8 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ยุบรวมพื้นที่ทำการค้า 4 จุด ให้เป็นจุดเดียวกัน ได้แก่ 1.ซอยจอมทอง 16 ถึงสุดซอยจอมทอง 16 ผู้ค้า 19 ราย 2.ซอยจอมทอง 16 ถึงด้านซ้ายหลังธนาคารกสิกรไทย ผู้ค้า 13 ราย 3.ซอยจอมทอง 14 ถึงหลังตลาด ผู้ค้า 25 ราย 4.ซอยจอมทอง 12 ถึงสุดซอยจอมทอง 12 ผู้ค้า 17 ราย โดยในปี 2568 เขตฯ จะยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุดที่เหลือภายในปีนี้ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณตลาดพิบูลย์ 6 ถนนเอกชัย สามารถรองรับผู้ค้าได้ 30 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โรงหล่อจักรวาล ซอยจอมทอง 13 ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหม้อไอน้ำตามแผนงานที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 9 แห่ง ประเภทการหลอม หรือหล่อโลหะทุกชนิด 14 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณร้านอาหารเป็นลาว พระราม 2 (Penlaos Rama 2) ซอยวัดยายร่ม ซึ่งเขตฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณหน้าร้านอาหารดังกล่าว เป็นสวน 15 นาที ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุวรรณานนท์ ถนนจอมทอง พื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน 89 ตารางวา 2.สวนชานบ้านดาวคะนองจอมทอง ถนนจอมทอง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 89 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหลังหมู่บ้านวรการ ถนนพระรามที่ 2 ซอย 30 (ซอยหมูป่า) พื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา 2.สวนสุขภาพบริเวณรอบสำนักงานเขตจอมทอง ถนนพระราม 2 ซอย 3 พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนหย่อมดาวคะนอง สามแยกดาวคะนอง ถนนสุขสวัสดิ์ พื้นที่ 87 ตารางวา 4.สวนหย่อมชายน้ำ บริเวณตำหนักพระเจ้าเสือ วัดไทร ถนนเอกชัย พื้นที่ 100 ตารางวา 5.สวนหย่อมร้านอาหารเป็นลาว ซอยวัดยายร่ม พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 6.สวนหย่อมหมู่บ้านสินทวีวิลล่า ซอยอนามัยงามเจริญ 11 พื้นที่ 2 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนหย่อมชุมชนริมคลองบางค้อ พื้นที่ 100 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่งตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ พลัมคอนโดมิเนียม พื้นที่ 6,804 ตารางเมตร จำนวน 252 ยูนิต เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะเศษอาหาร นำมาทิ้งในจุดที่คอนโดกำหนด มีการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง 2.ขยะรีไซเคิล ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะรีไซเคิล นำมาทิ้งในจุดที่คอนโดกำหนด แม่บ้านประจำชั้นเก็บรวบรวมนำมาไว้ที่จุดพักขยะประจำคอนโด เพื่อรอจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะทั่วไป นำมาทิ้งในจุดที่คอนโดกำหนด แม่บ้านประจำชั้นเก็บรวบรวมนำมาไว้ที่จุดพักขยะประจำคอนโด เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะอันตราย นำมาทิ้งในจุดที่คอนโดกำหนด แม่บ้านประจำชั้นเก็บรวบรวมนำมาไว้ที่จุดพักขยะประจำคอนโด เขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 220 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 180 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจอมทอง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
#บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)