(7 มี.ค. 68) เวลา 12.50 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสะพานสูง ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนสะพานสูงส่งเสริมสุขภาพ (ศูนย์สาธารณสุข 68) ซอยรามคำแหง 118 แยก 13 ด้านข้างสำนักงานเขตสะพานสูง ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาที่ว่างภายในศูนย์สาธารณสุข 68 ตัดแต่งกิ่งไม้ ถางหญ้า ปรับสภาพพื้นที่ ปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที จัดทำทางเดินวิ่งรอบบ่อน้ำกลางสวน ตั้งวางม้านั่ง เครื่องออกกำลังกาย ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุวรรณพฤกษ์ (สวนหมู่บ้านพฤกชาติ) พื้นที่ 3,650 ตารางเมตร 2.สวนชัยพฤกษ์ 1 ซอยชัยพฤกษ์ 7 พื้นที่ 454 ตารางเมตร 3.สวนชัยพฤกษ์ 2 ซอยชัยพฤกษ์ 11 พื้นที่ 470 ตารางเมตร 4.สวนชัยพฤกษ์ 3 ซอยชัยพฤกษ์ 13 พื้นที่ 1,300 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนชุมชนฮิดายะห์ พื้นที่ 180 ตารางเมตร 2.สวนวัดลาดบัวขาว (ราชโยธา) พื้นที่ 880 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมซอยกรุงเทพกรีฑา 32 พื้นที่ 140 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมหมู่บ้านนักกีฬาประชาร่วมใจ (สวนต่อเนื่องจากสวนสุขภาพเคหะชุมชนหัวหมาก) พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร 5.สวนสะพานสูงส่งเสริมสุขภาพ (ศูนย์สาธารณสุข 68) พื้นที่ 2,800 ตารางเมตร 6.สวนเลียบคลองลาดบัวขาว พื้นที่ 800 ตารางเมตร 7.สวนสุขภาพบึงบ้านม้า (38ไร่) ซอยกรุงเทพกรีฑา 27 พื้นที่ 60,800 ตารางเมตร 8.สวนศูนย์สาธารณสุข 68 สาขาหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง พื้นที่ 140 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ สถานดูแลผู้สูงอายุเดอะพาเร้นส์ ซอยราษฎร์พัฒนา 2 พื้นที่ 2 ไร่ ผู้ใช้บริการ 120-130 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะกับกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหาร ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงห้องพักขยะที่อยู่ด้านหลัง จึงให้เกษตรกรมารับเศษอาหารเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ เมื่อปรับปรุงห้องพักขยะเรียบร้อยแล้ว จะตั้งวางเครื่องทำปุ๋ยจากเศษอาหารที่จัดเตรียมไว้ จำนวน 2 เครื่อง โดยนำเศษอาหารของแต่ละวันใส่ลงไปในเครื่องทำปุ๋ย ปุ๋ยที่ได้จะใช้ในแปลงพืชผักสวนครัวและแปลงผักปลอดสารพิษ นอกจากนี้ เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำขยะจากเปลือกผักผลไม้แปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในสถานประกอบการ เช่น ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในห้องเตรียมปรุงอาหาร ห้องล้างจาน 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำพลาสติก กล่องลัง ขวดเครื่องดื่ม โดยรวบรวมไว้บริเวณจุดคัดแยก และส่งต่อให้ผู้ดูแลสถานที่นำไปขาย เพื่อเป็นรายได้เสริมแก่แม่บ้าน ส่วนขยะรีไซเคิลอื่น ๆ จะรวบรวมไว้ รอเขตฯ จัดเก็บ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป รวบรวมไว้ เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย รวบรวมไว้ แจ้งเขตฯ จัดเก็บ 5.ขยะติดเชื้อ คัดแยกขยะติดเชื้อ รวบรวมไว้ รอจัดเก็บโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อนำไปกำจัดที่โรงงานเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 750 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 350 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่
ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณงานปรับปรุงสะพานทางเดิน ค.ส.ล. ริมคลองหลอแหล จากโรงเรียนสามแยกคลองหลอแหล ถึงคลองญี่ปุ่น ซึ่งเขตฯ มีโครงการปรับปรุงสะพานทางเดิน ค.ส.ล. ริมคลองหลอแหล จากโรงเรียนสามแยกคลองหลอแหล ซอยราษฎร์พัฒนา 10 ถึงคลองญี่ปุ่น ความยาว 696 เมตร ปริมาณงานประกอบด้วย ทุบรื้อพื้นคานและเสาสะพานเดิมออก ก่อสร้างสะพานทางเดินใหม่ พร้อมติดตั้งราวกันตกสะพานทางเดินริมคลอง จำนวน 233 แผง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณารูปแบบให้เหมาะสม ซึ่งสะพานทางเดินที่สร้างใหม่จะมีความกว้างกว่าสะพานทางเดินเดิม อาจต้องเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าที่ปักอยู่ริมคลองในแนวทางเดินที่ขยายให้กว้างขึ้น รวมถึงพิจารณาวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุง หากต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดเพื่อนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม โดยเน้นย้ำให้เขตฯ พิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วน ความเหมาะสมในการปรับปรุง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือ บริเวณถนนราษฎร์พัฒนา (ตลาดลาว) ผู้ค้า 97 ราย ตั้งแต่ปากซอยราษฎร์พัฒนา 20 ถึงปากซอยราษฎร์พัฒนา 24 ผู้ค้าจะทำการค้าในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. นอกจากนี้ในปี 66 เขตฯ ได้ประสานศูนย์การค้าเดอะพาซิโอทาวน์ รามคำแหง เพื่อจัดทำ Hawker Center บริเวณลานจอดรถหน้าศูนย์การค้าฯ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ต่อมาปี 67 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างใต้สะพานต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า (ฝั่งตะวันออก) ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดของของสำนักการโยธา เพื่อจัดทำ Hawker Center ส่วนในปี 68 เขตฯ ได้ประสานพื้นที่เอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center บริเวณถนนราษฎร์พัฒนา ระหว่างซอยราษฎร์พัฒนา 18-20 สามารถรองรับผู้ค้าได้ 100 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด
ในการนี้มี นายสุพจน์ หล้าจำศีล ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)