(6 มี.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดุสิต ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ถนนทหาร พื้นที่ 4 ไร่ มีประชากร 143 ครัวเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์จากเศษอาหาร เพื่อนำมาหมักทำปุ๋ยและทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ จำหน่ายเป็นรายได้แลกลุ้นรางวัลกับ Trash Lucky 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บทุกสิ้นเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 9,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 8,112 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 827 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล เพื่อให้การจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณคลองสวนน้อยอ้อย ถนนทหาร ซึ่งเป็นการก่อสร้างสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.87 กิโลเมตร เริ่มต้นจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน ผ่านถนนสามเสน ไปสิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อสัญญาที่ 2 บริเวณสถานีหอสมุดแห่งชาติ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ล้างทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้างและทำความสะอาดถนนตลอดแนวพื้นที่ก่อสร้างเป็นประจำ เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง คลุมผ้าใบรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งวัสดุก่อสร้างดินทราย จัดให้มีสิ่งปกคลุมกองวัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองภายในพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทถมดินท่าทราย ประเภทตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามงบประมาณโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) คลองสวนอ้อยน้อย จากบริเวณคลองบางซื่อถึงบริเวณถนนทหาร ระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) ความยาว 890 เมตร 2.ติดตั้งราวเหล็กกันตก ความยาว 890 เมตร 3.ติดตั้งบันไดเหล็กหน้าเขื่อน จำนวน 20 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณารูปแบบให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณในการก่อสร้างเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณจุดประชาวิวัฒน์ ถนนพระรามที่ 5 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 668 ราย ดังนี้ 1.ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ค้า 193 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 2.หน้าตลาดเทวราช รวมผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. แบ่งเป็น ฝั่งถนนพิษณุโลก ผู้ค้า 23 ราย ฝั่งถนนสามเสน ผู้ค้า 42 ราย ฝั่งถนนลูกหลวง ผู้ค้า 27 ราย 3.ถนนสังคโลก ผู้ค้า 78 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 4.หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ผู้ค้า 77 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-09.00 น. 5.ถนนคลองลำปัก ผู้ค้า 228 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 02.00-08.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร ผู้ค้า 12 ราย ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือจุดประชาวิวัฒน์ ถนนพระรามที่ 5 ผู้ค้า 14 ราย นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือหน้าตลาดเทวราช ผู้ค้า 92 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 480 ราย ดังนี้ 1.ตรงข้ามกรมชลประทาน ถนนสามเสน ผู้ค้า 84 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 2.ข้างวัดสะพานสูง ผู้ค้า 58 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 24.00-06.00 น. 3.หน้าตลาดราชวัตร รวมผู้ค้า 133 ราย ตั้งแต่หน้ากรมสรรพสามิต ถึงหน้าบ้านเลขที่ 1376 ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ผู้ค้า 105 ราย ตั้งแต่หน้าบ้านเลขที่ 757 ถึงปากซอยมิตรอนันต์ ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ผู้ค้า 28 ราย 4.หน้าตลาดศรีย่าน รวมผู้ค้า 114 ราย ตั้งแต่หน้าห้างเอดิสัน ถึงแยกศรีย่าน ถนนสามเสน ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ผู้ค้า 33 ราย ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงปากซอยศรีย่าน 1 ถนนนครไชยศรี ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ผู้ค้า 81 ราย 5.ตรงข้ามตลาดศรีย่าน ถนนนครไชยศรี รวมผู้ค้า 91 ราย ฝั่งตรงข้ามตลาดศรีย่าน ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ผู้ค้า 59 ราย ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 401/5 ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-02.00 น. ผู้ค้า 32 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบพื้นที่ต่อไป
พัฒนาสวน 15 นาที สวนบางมะกอก@พระรามที่ 5 ซี่งเขตฯ ได้พัฒนาที่ว่างริมคลองเปรมประชากร จัดทำสวนสาธารณะในรูปแบบแนวยาว (linear park) สวนสุขภาพเดินวิ่งขี่จักรยานออกกำลังกาย รวมทั้งสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาวิ่งเล่นได้ (Pet-friendly Park) ระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยปลูกต้นมะกอกน้ำเรียงรายริมถนน และต้นทองอุไรดอกสีเหลืองบานสะพรั่งตลอดแนว พร้อมทั้งจัดทำลานทางเดินหินบำบัด สำหรับเดินเท้าเปล่าบริหารฝ่าเท้า กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ปรับสมดุลร่างกายและจิตใจ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติ ถนนทหาร พื้นที่ 7 ไร่ 2.สวนในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ถนนสามเสน พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนหย่อม ปตอ. พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล พื้นที่ 5,400 ตารางเมตร 2.สวนสามสัก พื้นที่ 800 ตารางเมตร 3.สวนมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์พื้นที่ 680 ตางรางเมตร 4.สวนเขียวไข่กา พื้นที่ 800 ตารางเมตร 5.สวนวังสามเสน พื้นที่ 270 ตารางเมตร 6.สวนเชิงสะพานเทพหัสดิน พื้นที่ 240 ตารางเมตร 7.สวนบางมะกอก@พระรามที่ 5 พื้นที่ 5,152 ตารางเมตร 8.ชุมชนสรรพวุฒิ พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)