(5 มี.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวัฒนา ประกอบด้วย
ตรวจการจัดเก็บไขมันในสถานประกอบการจำหน่ายอาหาร บริเวณซอยสุขุมวิท 5 ซึ่งบริเวณดังกล่าว จะมีร้านอาหารเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อาทิ ร้าน HAFID Restaurant ร้าน You Chun Restaurant ร้านอัล กฮาวาส เรสทัวรองต์ ร้าน Bab Al – Yemen restaurant และร้านถูกและดี ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือสถานประกอบการและร้านอาหาร ติดตั้งถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน เพื่อรองรับน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนไขมัน แยกไขมันออกมากำจัด ก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่บ่อพักและท่อระบายน้ำบริเวณสถานประกอบการและร้านอาหารจะมีไขมันปนเปื้อนไปกับน้ำทิ้ง ก่อให้เกิดปัญหาการสะสมของไขมัน ส่งผลทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน กีดขวางทางไหลของน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ จากการเปิดฝาท่อระบายน้ำบริเวณซอยสุขุมวิท 5 พบว่ามีคราบไขมันลอยอยู่เต็มบ่อพักน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าร้านอาหาร ในเบื้องต้นได้ใช้ถังตักขึ้นมาใส่ถุง หลังจากนั้นจะลอกท่อทำความสะอาดอีกครั้ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีร้านอาหารบางแห่งไม่ติดตั้งถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน มีการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำ โดยเขตฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับร้านอาหารที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยกำหนดระยะเวลา 7 วัน เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม เขตฯ จะออกคำสั่งให้หยุดทำการค้าต่อไป สำหรับการติดตั้งถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน ควรติดตั้งบนพื้นเรียบในบริเวณที่สามารถรับน้ำเสียจากอ่างล้างจาน ทำความสะอาดหรือตักไขมันได้สะดวก เลือกใช้บ่อดักไขมันที่มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณน้ำเสีย นำเศษอาหารที่ติดอยู่กับตะแกรงออกมาทิ้งทุกวัน ตักไขมันออกเป็นประจำทุก 1-2 วัน หรือตามความเหมาะสม โดยสังเกตจากไขมันที่จับตัวเป็นคราบไขมันหนาลอยอยู่ เมื่อตักไขมันใส่ในถุงแล้วผูกปากถุงให้เรียบร้อยก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป
ด้วยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหาร ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ภัตตาคาร ศูนย์อาหาร ต้องมีการแยกไขมันไปกำจัด ก่อนระบายน้ำทิ้งออกสู่ระบบระบายน้ำ โดยใช้ถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน หรือการบำบัดด้วยวิธีการอื่น ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าการบำบัดด้วยถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน และน้ำทิ้งต้องได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,0000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการมิวนิคพร้อมพงษ์ ปากซอยสุขุมวิท 39 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยความสูง 34 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น 5 ระดับ จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ดังนี้ ตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ และเปิดในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา ล้างทำความสะอาดพื้นที่ภายในโครงการ รวมถึงพื้นทางเท้าด้านหน้าโครงการ ปิดคลุมกองวัสดุทุกครั้งหลังเลิกงาน จัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ และฉีดล้างล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนทุกครั้งก่อนออกจากโครงการ ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกและรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทแพลนท์ปูน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจสวน 15 นาที สวน 39 Pocket Park บริเวณปลายซอยสุขุมวิท 39 ซึ่งเขตฯ จะพัฒนาพื้นที่ว่างจัดทำเป็นสวน 15 นาที เพื่อเชื่อมต่อจากสวนสามก้าว ริมคลองแสนแสบ ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ฟิโลใบมะละกอ พลูฉลุ เตยหอม ดอลล่า เฟิร์นสไบนาง เฟิร์นใบมะขาม พุดพืช หนวดปลาหมึกด่าง นางพญาคล้าทอง ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนริมคลองเป้ง พื้นที่ 870 ตารางเมตร 2.Pocket Park 39 ปลายซอยสุขุมวิท 39 พื้นที่ 200 ตารางเมตร 3.Vadhana Pocket Park ทองหล่อ 10 พื้นที่ 200 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมหลังเขตวัฒนา พื้นที่ 40 ตารางเมตร 5.สวนสามเก้า ซอยสุขุมวิท 39 ริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 365 ตารางเมตร 6.สวนหย่อมพานิชอนันต์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 42 พื้นที่ 1,984 ตารางเมตร 7.สวน 39 Pocket Park พื้นที่ว่างปลายซอยสุขุมวิท 39 พื้นที่ 20 ตารางเมตร 8.สวนริมคลองศาลาลอย ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 แยก 14 พื้นที่ 400 ตารางเมตร 9.สวนพิบูลเวศม์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 13 พื้นที่ 2,100 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารชุดเอท ทองหล่อ เรสซิเด้นซ์เซส (Eight Thonglor Residences) ซอยทองหล่อ 8 พื้นที่ 3 ไร่ 67 ตารางวา มีประชากร 355 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ บริเวณจุดรวมด้านหน้าอาคารนิติบุคคล 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล บริเวณจุดรวมด้านหน้าอาคารนิติบุคคล และตามชั้นต่าง ๆ ในอาคารแต่ละชั้น ชั้นละ 1 จุด 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป บริเวณจุดรวมด้านหน้าอาคารนิติบุคคล และตามชั้นต่าง ๆ ในอาคารแต่ละชั้น ชั้นละ 1 จุด 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย บริเวณจุดรวมด้านหน้าอาคารนิติบุคคล และจุดห้องพักขยะ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 800 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 400 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนและหลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนและหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ เศษผัก เศษอาหาร รวมถึงการคัดแยกขยะรีไซเคิล นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยกล่าวว่า นับว่าเป็นเรื่องดีที่ทางนิติบุคคลให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี อึกทั้งยังมีโครงการ 8 Go Green นำขยะอินทรีย์ไปแปรรูปน้ำหมักชีวภาพ ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์แก่ผู้พักอาศัยและร้านค้าภายในอาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การคัดแยกขยะและการจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 91 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขุมวิท 1 ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 19 ผู้ค้า 6 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 21 (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 10 ราย 4.ซอยสุขุมวิท 21 (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 5 ราย 5.ซอยสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี แยก 1) ผู้ค้า 11 ราย 6.ซอยสุขุมวิท 31 ผู้ค้า 14 ราย 7.ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย 30) ผู้ค้า 29 ราย 8.ถนนสุขุมวิท (หน้าวัดธาตุทอง) ผู้ค้า 11 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยสุขุมวิท 1 ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 33 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 20 ราย ส่วนในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยสุขุมวิท 19 ผู้ค้า 6 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี แยก 1) ผู้ค้า 11 ราย โดยได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ จัดเตรียมพื้นที่ทำการค้าใกล้เคียงไว้รองรับ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้มี นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)